สอนเขียนบทความบนเว็บ

ทุกวันนี้คอนเทนต์ที่เราเจอกันในชีวิตประจำวันมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ อินโฟกราฟิก หรืออย่างทุกวันนี้ที่ฮิตกันมาก ๆ เลยก็คือ Story แต่คำถามก็คือ คอนเทนต์แบบไหนเข้าถึงเราได้มากที่สุด จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานในสายการเขียนออนไลน์มาหลายปีบอกได้เลยว่า การเขียนหรือตัวอักษรนั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ไม่ได้น้อยไปกว่าวิดีโอหรือภาพเลย แม้การอ่านจะต้องแลกมากับการโฟกัสที่ตัวหนังสือ แต่การโฟกัสนั้นก็ทำให้สิ่งที่เราอยากถ่ายทอดซึ่งบอกได้เลยว่า งานเขียนสามารถเข้าถึงจุดที่ลึกที่สุดของคนอ่านได้

สำหรับวันนี้  เราจะมาแชร์เทคนิค และสอนการเขียนบทความกัน รวมถึงการเลือกประเด็นต่าง ๆ หลายคนมีเรื่องอยากเขียน แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง หลายคนอยากเขียน แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าเราเขียนไปเพื่ออะไร

งานเขียนทุกงานต้องมีวัตถุประสงค์ ถ้ายังไม่ชัดเจน อย่าทำ

แน่นอนว่าการจะเขียนเรื่องอะไรซักเรื่อง หรือการเขียนบทความ มันไม่ได้มาจากอยู่ดี ๆ ก็คิดหัวข้อขึ้นมาแล้วเขียน แต่สิ่งแรกที่เราต้องเริ่มต้นก่อนก็คือการ หาวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์เราอาจจะเช่น

  • เขียนเพื่อเล่าประสบการณ์
  • เขียนเพื่อให้ความรู้
  • เขียนเพื่อชักจูงหรือชี้นำให้คนอ่านทำตาม
  • เขียนเพื่อขายของ

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ขั้นต้นเท่านั้น วัตถุประสงค์ของเราจะต้องลงลึกไปมากกว่านั้น เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่า บทความของเราบรรลุวัตถุประสงค์จริงหรือเปล่า เช่น เพื่อให้คนอ่านสามารถอ่าน Google Analytic เป็น , เพื่อชวนคนให้มางานของบริษัท , เพื่อชวนคนให้มาวิ่งออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการเขียนข่าว ก็มีวัตถุประสงค์เช่นกัน เช่น ทำให้คนอ่านรู้จักยาน InSight ที่ไปลงจอดบนดาวอังคาร เมื่อเรารู้วัตถุประสงค์แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ วิธีการที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์นั้น

Case study : บทความ รวมดาวที่ไกลและเหงากว่าดาวพลูโต เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ว่า ผู้เขียนรู้สึกว่าคนยังไม่รู้จักดาวเคราะห์แคระดวงอื่น ๆ รู้จักแต่พลูโต จึงอยากทำคอนเทนต์ให้คนรู้ว่า ไม่ได้มีแต่พลูโต จึงเกิดเป็นบทความนี้ขึ้น โดยโฟกัสไปแค่ การมีอยู่ แต่ไม่เจาะลึกมาก

ไม่แนะนำให้เริ่มต้นด้วย เราจะเขียนบทความเรื่องการวิ่ง, เราจะเขียนเรื่องหนังที่ไปดูมา เพราะ งานจะไม่มีวันเสร็จ เพราะเราไม่ได้กำหนดขอบเขตของมันเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วเราจะเที่ยวถามตัวเองและคนอื่นว่า ต้องมีอะไรบ้าง เขียนไปซักพักแล้วจะไปต่อไม่ถูก

ตัวอย่างของวิธีการคิดเรื่องที่จะเขียนจากวัตถุประสงค์ ที่ควรและไม่ควรเช่น

  • ไม่ควร : เขียนบทความเรื่องการวิ่ง | ควร : ทำให้คนรู้ว่าการวิ่งไม่ได้ใช้เงินเยอะขนาดนั้น
  • ไม่ควร : อยากเล่าเรื่องหนังที่ไปดูมา | ควร : ทำให้คนรู้ว่าหนังที่ไปดูมาสนุกแค่ไหน นางเอกใส่แว่นน่ารักมาก
  • ไม่ควร : เขียนเพราะประเด็นนั้นกำลังเป็นกระแส | เขียนเพราะเรามองเห็นประเด็นอะไรบางอย่างในกระแสนั้นและอยากถ่ายทอดให้คนเห็นเหมือนกับเรา
  • ไม่ควร : เขียนเรื่องดาวอังคาร | ควร : ทำให้คนรู้ว่าบนดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า

เขียนเรื่องอะไรดี สอนเลือกประเด็น

ต่อมาก็จะเป็นคำถามสำคัญว่า แล้วเราจะเขียนเรื่องอะไรดี ซึ่งเราก็อาจจะรู้คำตอบไปแล้วว่า การเขียนที่ดีจะต้องมาจากวัตถุประสงค์เพื่อทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เพื่อให้ความรู้, เพื่อเล่าประสบการณ์ หรือเพื่อชักจูง วิธีการเลือกประเด็นก็คือ แล้วคนต้องรู้อะไรเพื่อให้เขาเข้าใจวัตถุประสงค์นั้น เช่น เราไปเที่ยวเชียงใหม่มาดาวสวยมาก เราต้องการให้เพื่อนเห็นดาวแบบนั้นเหมือนเรา (วัตถุประสงค์) เราก็อาจจะเขียนถึงดาวแล้วพรรณาให้คนเห็นภาพ หรือถ้าเราจัดงานบางอย่าง เช่น งานแสดงสินค้าใหม่ของบริษัท เราก็อาจจะเลือกประเด็นว่า สิ่งที่คนมางานจะได้ (กรุณาอย่าเขียนว่าในงานมีอะไร หรือบรรยายออกทะเลไปหมด วัตถุประสงค์ อยากให้คนรู้ กับ อยากให้คนมา ไม่เหมือนกันนะ)

ขั้นตอนในการเลือกประเด็นนี้ก็คือการออกแบบ Message ของเราว่าเราจะถ่ายทอดไปในทิศทางไหน ในเรื่องต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งจะทำไปสู่ข้อต่อไปก็คือการวางเนื้อเรื่อง

เทคนิคในการตั้งชื่อ Click-bait ควรทำไหม

สำหรับการตั้งชื่อดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ถ้าเรารู้วัตถุประสงค์ของบทความจริง ๆ เราก็ตั้งไปตามนั้นเลย โดยที่ชื่อของเราควรจะมีคุณสมบัติดังนี้

  • บอกว่าในบทความมีอะไร
  • บอกว่าอ่านแล้วจะได้อะไร
  • บอกว่าถ้าไม่กดเข้ามาอ่านแล้วจะไม่ได้อะไร

ฟัง ๆ เหมือนว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังสอนตั้งชื่อ click-bait อยู่หรือเปล่า บอกเลยว่า click-bait คือการตั้งหัวบทความที่เหนือกว่า Value ของตัวเอง เช่น หรือไม่ได้ตอบข้อสงสัยของผู้อ่าน ดังนั้น การตั้งชื่อจะ click-bait หรือไม่ click-bait ขึ้นอยู่กับว่า เราให้ value กับอะไร เราให้ value กับคนอ่าน กับความรู้ กับเนื้อหาของเรา หรือเราให้ vaue กับแค่ “การที่มีคนกดเข้ามา” แล้วเขาจะรู้สึกแย่ เอาไปด่า เอาไปบ่นอะไรก็ช่าง ตรงนี้เราเป็นคนเลือก

มีอีกอย่างนึงที่เราควรเข้าใจคือ บริบท (context) ที่ชื่อของบทความเราจะไปอยู่ และ Discoverability ของมันเช่น อยู่บน Social Network คนไม่ได้หวังที่จะเจอมาก่อน ดังนั้นเราต้องให้คุณค่ากับความรู้สึกว่า “เขาจะได้อะไร” แต่ถ้าอยู่บน Google หรือ Search Engine ก็คนเขา Search หาเรื่องนั้นแล้ว สิ่งที่เราจะต้องให้คุณค่าก็คือ “เขาจะได้สิ่งที่เขาค้นหาลึกแค่ไหน มากแค่ไหน ตรงประเด็นแค่ไหน” 

วางเนื้อเรื่องแบบไหนให้น่าจดจำ

ต่อไปก็คือเนื้อเรื่อง ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ให้มองบทความของเราเป็นก้อนก้อนเดียวที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ตั้งไว้ เชื่อว่าหลายคนคงเรียนเรื่อง Paragraph Writing กันแล้ว ไม่ในมัธยม ก็ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรเข้าใจมาก ๆ การวางเนื้อเรื่องหลาย ๆ คนก็อาจจะมีท่าทางที่แตกต่างกันไป ลองนึกบทความเราเป็นหนังหนึ่งเรื่อง บางเรื่องเริ่มต้นด้วยความสงสัย, บางเรื่องเริ่มต้นด้วยการเล่าปัญหา, บางเรื่องเริ่มต้นด้วยความสงบแล้วมาค่อย ๆ บอกปัญหา แต่เมื่อหนังจบสิ่งที่คนจะจำก็คือความรู้สึก

งานเขียนของเราก็เหมือนกันการวางเนื้อเรื่องของเราอาจจะมีวิธีการทั่วไปอย่าง

  • เริ่มต้นด้วยการเกริ่น ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไร เพราะอะไร ที่มาที่ไป
  • ใจความที่เราต้องการเล่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อะไร ยังไง มีอะไรบ้าง
  • จบเนื้อหา สรุป สร้างความน่าจดจำ และ Call to Action

ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานเขียนเช่นกัน ถ้าเราอยากจะให้ข้อมูล เราก็ต้องบอกว่าข้อมูลมาจากไหน มีอะไรบ้าง สำคัญและให้คุณค่าอะไร (รู้แล้วได้อะไร) ถ้าเป็นการชักจูง ก็ต้องบอกให้ได้ว่าเขาทำแล้วเขาจะได้อะไร ทำไมเขาต้องทำตามที่เราชักจูงด้วย

คล็ดลับ : สร้างความคาดหวัง และตอบสนองความคาดหวังนั้น แม้จะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ แต่ถ้ามันเป็นความคาดหวัง คนอ่านจะรู้สึกว่าเราทำได้ เช่น บอกว่า หลังจากจบบทความนี้เราจะได้รู้จักชื่อยานทั้ง 5 ลำที่อยู่บนดาวอังคารตอนนี้ (ซึ่งมันเป็นอะไรที่ธรรมดามาก ๆ) พอผู้อ่านอ่านจบ ได้รู้ชื่อทั้ง 5 ชื่อจริง ๆ ก็แปลว่าเราให้ value กับคนอ่านแล้ว บางบทความตั้งความหวังไว้สวยหรู แต่ก็ทำไม่ได้ ต่อให้ใกล้ความคาดววังแค่ไหน แต่ไม่ได้บรรลุ ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดี

ต้องอ้างอิงไหม แบบไหน

ต่อไปก็คือปัญหาโลกแตกว่า แล้วต้องอ้างอิงไหม ?? ก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของเราอีก ถ้าตัดเรื่องจริยธรรมออกไป (ในแง่นี้นะ ในชีวิตไม่ต้องตัด) การมีแหล่งอ้างอิงคือการบอกว่าเราจริงใจ และเราศึกษาเรื่องนี้มาจริง ๆ ก่อนที่จะเขียน ซึ่งอ้างอิงอาจจะอ้างอิงจากประสบการณ์ผู้เขียน (แบบนี้ก็เรียกอ้างอิงนะ แต่ผู้เขียนต้องมีประสบการณ์จริง ๆ) หรือจะอ้างอิงจากงานเขียนของคนอื่น หรืออ้างอิงจากงานวิจัย แต่บอกเลยว่า อย่าอ้างอิงแค่ให้ได้อ้างอิงและการอ้างอิงไปยังเว็บที่ไม่มีอ้างอิงก็ไม่ได้ทำให้เว็บเราน่าเชื่อถือขึ้น

วิธีการอ้างอิง อาจจะใช้การพูดไปในบทความเลยว่า เราเคยอ่านงานของคุณคนนี้ (แล้วแนบลิ้งไป) เขาบอกว่าอะไร หรือ เวลาเราพูดถึงตัวเลขหรือสถิติ เราก็ต้องบอกไปว่าสถิตินี้มาจากไหน (แน่นอนว่าต้องแนบลิ้งไป) หรือจะอ้างอิงทีละเยอะ ๆ ท้ายบทความได้ (แต่ช่วงหลังผู้เขียนไม่ค่อยชอบใช้วิธีนี้ เพราะดูไม่จริงใจ และผู้อ่านต้องมาหาว่าลิ้งค์นี้คือเรื่องไหน)

ดังนั้น การอ้างอิงเราไม่ได้อ้างอิ้งแค่ให้ไม่โดนด่าแต่ต้องอ้างอิงเพราะเราอยากให้บทความของเราน่าเชื่อถือจริง ๆ ซึ่งอ้างอิงนั้น อาจจะมาจากประสบการณ์ หรือแหล่งข้อมูลอื่นก็ได้

อย่าลืมจบ สรุปและสร้าง Call to Action

เมื่อเราเล่าทุกอย่างที่เราคิดว่าจะทำให้การเขียนบทความของเราบรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการสรุปประเด็น วิธีการสรุปประเด็นก็เช่น

  • บทความนี้เราพูดถึงอะไรบ้าง
  • ตอกย้ำไปว่า มันให้ value อะไรกะคนอ่าน
  • ให้ความสำคัญกับความรู้สึก
  • สร้าง Call to action

เทคนิคก็คือ ท้ายบทความนี่แหละคือช่วงล้างสมอง และสร้างการจดจำว่า ผู้อ่านได้อ่านงานเขียนที่โคตรมีคุณภาพ (หรือไม่ก็ตาม) จากเว็บของเรา และได้รับสิ่งที่เขาอยากจะได้รับครบถ้วน ทั้งในแง่ของข้อมูลและความรู้สึก “เรา ในฐานะ … จะสามารถ ….” , “เราได้เรียนรู้ ….”

นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญก็คือสร้าง Call to action เพื่อให้เขา คิด, ทำ หรือรู้สึกในสิ่งที่เราต้องการ เพราะตอนแรกเราบอกไปแล้วว่าบทความของเราต้องมีวัตถุประสงค์ เช่นการขาย แบบนี้ก็ได้เช่นกัน ท้ายบทความเราก็ต้องบอกให้เขา มาซื้อสินค้าของเราด้วย หรือถ้างานเขียนของเราเป็นการให้ความรู้ ก็ให้บอกว่า เขาได้รู้เรื่องอะไร และเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้

สรุป

ในบทความนี้เราก็ได้ฟังเทคนิคที่มาจากประสบการณ์การเขียนบทความของผู้เขียนกันไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้เลยก็คือ งานเขียนทุกงานมันมีวัตถุประสงค์ของมันอยู่ การทำงานที่ไม่มีวัตถุประสงค์จะทำให้เราออกทะเล เหนื่อย ท้อ และคิดไม่ออก และอย่าลืมว่า การทำคอนเทนต์ทุกประเภท รวมถึงการเขียนด้วย คือการสร้างความคาดหวังและตอบสนองความคาดหวังนั้น รวมถึงการให้ Value อะไรบางอย่างกับคนอ่านเสมอ หลังจากนี้ไป ใครที่อยากจะเริ่มต้นเขียนบทความ ไม่ว่าจะเป็น Blog หรือแม้กระทั่งเพจต่าง ๆ ที่เน้นเนื้อหาเป็นตัวอักษร ก็อยากให้ลองเริ่มดู และเชื่อว่าไม่นานเราจะจับทางการเขียนของเราได้ และกลายเป็น Blogger ที่มีผู้ติดตามมากมายก็เป็นได้