การเขียนรายงานทางวิชาการ

1. หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ
ส่วนประกอบของรายงานทางวิชาการ มีลักษณะ ดังนี้

    • 1.1 ส่วนประกอบตอนต้น มีส่วนประกอบตามลำดับดังนี้
  • หน้าปก (ปกนอก)
  • หน้าชื่อเรื่อง (ปกใน)
  • คำนำ (กิตติกรรมประกาศ)
  • สารบัญ
  • สารบัญตาราง
  • สารบัญภาพประกอบ

1.2 ส่วนประกอบตอนกลาง (เนื้อเรื่อง) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน แบ่งแยกเนื้อหาที่เขียนเป็นบทอย่างมีระบบระเบียบ ตามลำดับ
รายงานทางวิชาการมีโครงสร้างมาตรฐาน 5 บท คือ
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 เอกสารและรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
บทที่ 3 วิธีดำเนินการศึกษา
บทที่ 4 ผลการศึกษา
บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบ ที่สำคัญของเนื้อเรื่อง ได้แก่ การอ้างอิงจากการศึกษาค้นคว้า แบบเชิงอรรถท้ายหน้า หรืออ้างอิงแทรกในเนื้อหา (นามปี) ข้อมูลสารสนเทศตารางประกอบ แผนภูมิ ภาพประกอบ
1.3 ส่วนประกอบท้าย ส่วนประกอบท้าย ได้แก่ บรรณานุกรม ภาคผนวก และอภิธานศัพท์ เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง เช่น การอ้างอิงที่ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถ ก็นำมาระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตารางข้อมูลแผนงานโครงการ บันทึกประจำวัน สำหรับผู้สนใจรายละเอียด

2. การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน
การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน รายงานมีลักษณะต่อไปนี้
-เป็นงานเขียนที่เป็นงานเป็นการ ค่อนข้างจริงจัง หนักแน่น
-การให้ความคิด ความรู้ มากกว่าเรียงความทั่วไป
-เป็นความเรียงร้อยแก้ว ใช้ภาษาเขียนถูกต้องตามหลักวิชาการ
-มีหลักฐาน ข้อเท็จจริงอ้างอิงประกอบ
-ไม่ต้องใช้สำนวนโวหารให้ไพเราะเพราะไม่ใช่งานประพันธ์
-มีความกระชับ รัดกุม กะทัดรัด ชัดเจน ตามที่นิยมกันตามปกติ
-ไม่ใช้คำที่อาจมีความหมายได้หลายประการ
-หลีกเลี่ยง การใช้ภาษาพูด ภาษาแสลง หรือภาษาตลาด
-ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาท้องถิ่น
– ควรเลือกใช้ภาษาสามัญที่เข้าใจง่าย
-ตัวสะกดการันต์ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
-การใช้คำศัพท์ เช่น การใช้คำสุภาพ คำราชาศัพท์ คำที่ใช้กับภิกษุ ล้วนต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง ตามหลักการใช้ภาษา และความนิยมในปัจจุบัน
ตัวอย่างการใช้คำศัพท์ เช่น
-สไลด์ เปลี่ยนใช้ ภาพเลื่อน ให้ถูกต้องตามศัพท์บัญญัติ
-ตรรกวิทยา (Logic) มีวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้าย
-ร้อยละ ไม่ต้องวงเล็บ (Percent) เพราะใช้กันแพร่หลายแล้ว
-ไม่ควรใช้ ศธ. หรือเขียนย่อว่า กระทรวงศึกษา ฯ แทน ” กระทรวงศึกษาธิการ ”
-ไม่ควรใช้ ร.ร. แทน โรงเรียน ยกเว้นกรณีที่นิยมใช้แบบย่อ กันแพร่หลายแล้ว เช่น พ.ศ. ส่วนคำที่เป็นชื่อเฉพาะ ให้เขียนสะกด การันต์ ตามของเดิม จะถืออักขรวิธีในการเขียนคำทั่วไปเป็นหลักไม่ได้ เช่น นางสาวจิตต์ ไม่ต้องแก้เป็น นางสาวจิต
-การใช้คำ กับ แด่ แต่ ต่อ ให้ถูกต้อง ตัวอย่าง เช่น
-กับ ใช้กับสิ่งของหรือคนที่ทำกริยาเดียวกัน เช่น ครูกับนักเรียนอ่านเอกสาร เด็กเล่นกับผู้ใหญ่
-แด่ ต่อ ใช้กับกริยา ให้ รับ บอก ถวาย ต่อบุคคลที่สมควร เช่น กล่าวรายงานต่อประธานถวายของแด่พระสงฆ์
-แก่ ใช้เช่นเดียวกับ แด่ ต่อ แต่ใช้กับบุคคลทั่วไป เช่น พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่แจ้งแก่
-เขียนเนื้อหาให้แจ่มแจ้งชัดเจน มีการเน้น เนื้อหาที่สำคัญ โดยใช้ คำ วลี และข้อความที่สำคัญ ขึ้นต้นประโยค หรือจบประโยค กล่าวซ้ำ เพื่อให้ความสำคัญกับคำที่กล่าวซ้ำเปรียบเทียบ

-เพื่อให้ข้อความชัดเจน และให้รายละเอียดเป็นตัวอย่าง รูปภาพประกอบ ทำให้ชัดเจน เข้าใจง่าย และถ้าต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติ จะต้องใช้ ตัวอย่าง ข้อความ สนับสนุนหลักการแนวคิดที่เสนอ ให้ชัดเจนอย่างมีศิลปะในการเขียน
-มีเอกภาพ ในการเสนอเนื้อหาทุกส่วนของรายงาน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเขียน
-มีสัมพันธภาพ ในการจัดลำดับเนื้อหา คือเขียนให้สัมพันธ์กัน เช่น ตามลำดับเวลา ตามลำดับเหตุและผล จัดลำดับ ระหว่าง หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ระหว่างย่อหน้า เรียงตามความสำคัญ หัวข้อที่สำคัญเท่ากัน หรือระดับเดียวกัน เขียนให้ย่อหน้าเท่ากัน ตรงกัน ย่อหน้าหนึ่งควรมีใจความสำคัญเดียว
-รายงานทางวิชาการ เน้นความจริง ความถูกต้อง ไม่ควรเขียนเกินความจริงที่ปรากฏ
-รายงานตามข้อมูลที่พบ ไม่ควรเขียนคำคุณศัพท์ เช่น ดีมาก ดีที่สุด เหมาะสม ดี โดยไม่มีข้อมูล หลักเกณฑ์ชัดเจน แสดงถึงการวินิจฉัย ประเมินค่าเกินจริง
-คุณสมบัติของผู้เขียนรายงาน ที่จะช่วยให้รายงานมีคุณค่า ได้แก่ความรู้ทั่วไปในเรื่องที่เขียน จะทำให้เตรียมการอย่างรอบคอบ เขียนได้ครอบคลุม ต่อเนื่อง ชัดเจน มีความสามารถในการวิเคราะห์ ให้คุณค่าข้อมูล อย่างแม่นตรงมีวิจารณญาณในการเลือกเสนอสิ่งที่สำคัญ สามารถใช้เทคนิคผสมผสานความรู้ ประสบการณ์ ออกมาเป็นความคิด แล้วถ่ายทอด ออกมาเป็นภาษาเขียน