ประเภทของบทความ

การเขียนบทความแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ บทความเชิงสาระ (Formal Essay) และบทความเชิงปกิณกะ (Informal Essay) บทความเชิงสาระจะเน้นหนักไปทางวิชาการ ผู้เขียนต้องการอธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหารหรือความเพลิดเพลินของผู้อ่าน เพราะถือว่าผู้อ่านต้องการปัญญาความคิดมากกว่าความสนุก ส่วนบทความเชิงปกิณกะนั้น แม้ผู้เขียนจะมุ่งหมายให้ความรู้ความคิดกับผู้อ่านบ้าง แต่ต้องถือว่าเป็น ความมุ่งหมายรอง เพราะผู้อ่านบทความเชิงปกิณกะจะต้องได้ความเพลิดเพลินเป็นเบื้องต้น นักเขียนบางคนก็อาจจะเขียนบทความเชิงสาระพร้อม ๆ กับให้ความรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน แก่ผู้อ่านด้วย

บทความสมัยนี้ค่อนข้างจะมีลักษณะผสมผสานกันทั้งเชิงสาระและปกิณกะ ดังที่ปรากฏอยู่ตามหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ ถ้าจะแบ่งตามเนื้อเรื่องของบทความแล้วยังแยกออกไปได้อีกหลายประเภท เช่น

1. บทความแสดงความคิดเห็น เป็นบทความที่ผู้เขียนหยิบยกเอาปัญหาในสังคมนั้น ขึ้นมาเขียน มีทั้งปัญหาส่วนรวมและปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาส่วนรวมก็เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง การปกครอง ฯลฯ ปัญหาส่วนบุคคลก็เช่น การป้องกันอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยให้ตนเอง การประกันชีวิต ฯลฯ บางครั้งผู้เขียนอาจจะเขียนตอบโต้บทความที่ผู้อื่นเขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นในแนวหนึ่งแนวใด ปัญหาที่มีข้อขัดแย้งนี้มักจะมีข้อคิดแตกต่างกันออกไปสองแนว คือ ความคิดเห็นในแนวยอมรับและโต้แย้ง เช่น หัวข้อบทความที่ว่า เพศศึกษาเหมาะสมกับการศึกษาระดับมัธยมเพียงไร บทความประเภทนี้ผู้เขียนอาจจะเลือกแสดงความ คิดเห็นในแนวใดแนวหนึ่งก็ได้ หรือจะเสนอความคิดเห็นของคนทั่ว ๆ ไปทุกด้านก็ได้ เพื่อปล่อยให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินเอาอง วิธีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นนี้ ผู้เขียนต้องเริ่มต้นด้วยการ แยกแยะปัญหาให้กระจ่างชัดเสียก่อนว่า คืออะไร วิธีแก้ปัญหามีอย่างไร ผู้เขียนเห็นชอบด้วยวิธีไหน เหตุที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบด้วย ในตอนลงท้ายควรจะย้ำความคิดเห็นของตนให้เด่นชัดอีกทีหนึ่ง

2. บทความประเภทสัมภาษณ์ เป็นบทความที่แสดงความคิดของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนบทความควรรู้จักเลือกบุคคลที่จะสัมภาษณ์ เช่น เป็นคนเด่น มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความเข้าใจอย่างดีในเรื่องที่เราจะเขียน ได้แก่ การสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีถึงมาตรการผลักดันผู้อพยพจากเวียดนามและกัมพูชา สัมภาษณ์รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับนโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางแฟชั่นสตรีเรื่องแนวโน้มในการแต่งกายของสตรีไทยในปัจจุบัน ฯลฯ การเลือกสัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้จะสามารถให้ข้อเท็จจริงตลอดจนข้อคิดเห็นต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และน่าเชื่อถือ บางครั้งผู้เขียนอาจเลือกสัมภาษณ์บุคคลอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่ ผู้สันทัดจัดเจนในเรื่องนั้น แต่เป็นผู้ที่เด่นอยู่ในความสนใจของสังคม เช่น สัมภาษณ์ดาราภาพยนตร์ เกี่ยวกับทรรศนะในการเลือกคู่ครองและการหย่าร้าง ทั้งนี้เพราะความเด่นของตัวบุคคลอาจดึงเรื่องขึ้นสู่ความสนใจของผู้อ่านได้ ในการนี้ผู้เขียนอาจแทรกเรื่องราวอื่น ๆ ลงไปด้วยเป็นต้นว่าชีวประวัติย่อ ๆ และเรื่องที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านั้น

3. บทความกึ่งชีวประวัติ มีลักษณะคล้ายกับบทความประเภทสัมภาษณ์ต่างกันในแง่ที่บทความประเภทสัมภาษณ์ต้องการแสดงข้อคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ส่วนบทความกึ่งชีวประวัตินั้นต้องการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้เน้นที่อัตชีวประวัติกลับไปเน้นที่ความสามารถและคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เขาประสบ ความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าบุคคลทั่วไป เขามีวิธีการและหลักการในการดำรงชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติตนอย่างไร เรื่องชีวประวัติเป็นสิ่งสำคัญรองลงมา ข้อมูลที่เราเก็บเอามาเขียนนั้น นอกจากจะได้จากการสัมภาษณ์บุคคลนั้นเองแล้ว อาจได้มาจากการสอบถามบุคคลแวดล้อม ซึ่งมีทั้งญาติมิตร และศัตรู ตลอดจนจากเอกสารหรือผลงานต่างๆ ที่เขาได้เคยสร้างไว้ รวมกันเข้าเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการเขียนบทความ

4. บทความประเภทให้ความรู้ เป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออธิบายวิธีทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในการเขียนควรเลือกเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ และผู้อ่านสามารถ ทำความเข้าใจตลอดจนปฏิบัติตามได้ไม่ยาก หัวข้อที่จะเลือกมาเขียนมีอยู่กว้างขวาง เช่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 เป็นต้นว่า วิธีปรุงอาหารคาวหวาน วิธีตัดเย็บเสื้อผ้า การทำสวนครัว ฯลฯ

5. บทความประเภทให้แง่คิด โน้มน้าวใจ หรือกระตุ้นให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เขียนอาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือเขียนในเชิงอุปมาอุปมัยก็ได้ การเขียนเชิงอุปมาอุปมัยนั้นจะพูดถึงสิ่งอื่น ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันโดยตลอด ข้อความทั้งเรื่องจะแทนความคิดที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบ เช่น กล่าวถึงสัตว์ฝูงหนึ่ง แต่เดิมเคยอยู่เป็นสุขรักใคร่สามัคคีกัน ต่อมาทะเลาะกันวิวาทกันแยกตัวไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมากไม่ช้านักสัตว์ฝูงนั้นก็ถูกสัตว์ฝูงอื่นรังแกล้มตายไปหมดสิ้น เรื่องทั้งหมดนี้เป็นการแทนความคิดของผู้เขียนที่จะชี้ให้เห็นโทษของการแตกสามัคคี เรื่องที่นำมาเขียนอาจเป็นการให้แง่คิดทั่ว ๆ ไป เช่น เรื่องการประหยัด ความรักชาติ ความเป็นพลเมืองดี ฯลฯ

6. บทความประเภทรายงานผลการท่องเที่ยว ถ้าเป็นการไปเที่ยวสถานที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีใครไปมาก่อน จะเร้าความสนใจของผู้อ่านดีขึ้น เนื้อเรื่องนอกจากจะกล่าวถึงเรื่องราว การเดินทาง ลักษณะภูมิประเทศ และความสวยงามของสถานที่นั้น ๆ แล้ว ยังอาจแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เช่น ข้อผิดพลาด ข้อเสนอแนะเพื่อความสะดวกสบาย สถานที่ที่ไม่ควรพลาด ข้อคิดเห็น บางประการเกี่ยวกับสถานที่นั้นซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรจะมีควรจะเป็น ฯลฯ เกร็ดเหล่านี้จะช่วยเสริมเรื่องราวให้น่าอ่านยิ่งขึ้น

7. บทความประเภทวิจารณ์ ผู้เขียนจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของเรื่องที่จะวิจารณ์อย่างถี่ถ้วน โดยอาศัยหลักวิชา เหตุผลหรือข้อเท็จจริงตัดสินว่าดีหรือไม่ ควรหรือไม่ควรอย่างไร บทความประเภทวิจารณ์นี้แบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้ 3 ประเภท

ก. บทวิจารณ์หนังสือ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้กว้างขวางในวิชาการหลายแขนง เพื่อเป็นแนวในการพิจารณาคุณค่าของหนังสือเรื่องนั้น ผู้เขียนจะวิจารณ์โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวมิได้ ต้องอาศัยหลักวิชา หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือมากล่าวว่าดีหรือไม่ เหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร เช่น การวิจารณ์นวนิยายเรื่องหนึ่ง ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ การใช้ภาษา เค้าโครงเรื่อง การจัดฉาก ลักษณะตัวละคร ความสมจริง การดำเนินเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี ท้ายสุดผู้วิจารณ์ต้องสรุปข้อคิดเห็นของตนเองว่า หนังสือ เรื่องนั้นมีคุณค่าควรแก่การอ่านหรือไม่เพียงใด

ข. บทความวิจารณ์ข่าว มีมูลเหตุโดยตรงมาจากข่าว และเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดปัญหา ในกลุ่มชน อาจเป็นปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาส่วนบุคคลก็ได้ ผู้เขียนจะต้องศึกษาที่มาของข่าว ตลอดจนผลอันจะเกิดขึ้นเนื่องจากข่าวนั้น แล้วนำมาเขียนวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นของตนว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรตามเนื้อหาของข่าว และอาจแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเป็นการเสนอแนะด้วย

ค. บทความวิจารณ์การเมือง ผู้เขียนหยิบยกเอาเรื่องราวต่าง ๆ ทางการเมืองที่เป็นปัญหาขึ้นมากล่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำใด ๆ ก็ตามย่อมจะมีผลสองแง่อยู่เสมอ คือ ดีหรือเสีย ฉะนั้นผู้เขียนจึงต้องคอยจับเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลดังกล่าวมาแยกแยะ แสดงความคิดเห็น และอาจแนะแนวทางปฏิบัตินอกเหนือจากที่ได้เป็นไปแล้ว ผู้เขียนบทความวิจารณ์การเมืองจะต้องเป็นผู้ติดตามข่าวคราวให้ทันเหตุการณ์ มีความรอบรู้เรื่องการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ การเมืองในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำนายเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้