ขั้นตอนการเขียนบทความ

1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน ว่าจะเขียนเรื่องอะไร
ถ้าเราสามารถเลือกเรื่องที่จะเขียนได้เอง การเลือกเรื่องที่เรามีความสนใจ มีความรู้ มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว ก็จะมีส่วนช่วยให้เราเขียนถ่ายทอดออกมาได้ง่ายและลื่นไหล และยิ่งเลือกเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เรื่องนั้นมีแนวโน้มที่จะมีคนสนใจอ่านเป็นจำนวนมาก

2. กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน ว่าเขียนเพื่ออะไร
เช่น เพื่อให้ข่าวสาร เพื่อให้ความรู้ เพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อการโน้มน้าวใจ เพื่อความบันเทิง เพื่อให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

3. กำหนดกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย ว่าเขียนให้ใครอ่าน
เราต้องคำนึงถึงอายุ เพศ การศึกษา อาชีพ ความรู้ ของผู้อ่านด้วย เนื่องจากลักษณะและคุณสมบัติของผู้อ่านจะมีผลต่อเนื้อหาที่เราจะเขียน ตลอดจนเรื่องของการใช้ภาษา ถ้อยคำ และคำศัพท์ต่างๆ

ยกตัวอย่าง เนื้อหาในบทความต่อไปนี้ที่เขียนเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับโปรแกรมสำเร็จรูป WordPress

ถ้ากลุ่มเป้าหมาย คือ บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจอยากลองสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเอง เวลาเขียนบทความควรใช้ภาษาง่ายๆ ให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน และถ้ามีการใช้คำศัพท์ก็ควรอธิบายความหมายประกอบด้วย

WordPress เป็นโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปตัวหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้งานจำนวนมาก เนื่องจาก WordPress ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ตั้งแต่การติดตั้ง การปรับตั้งค่าตกแต่งส่วนต่างๆ และการจัดการดูแลเนื้อหาภายในเว็บไซต์ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลยก็ได้ นอกจากนี้ WordPress ยังสนับสนุนการทำ SEO (Search Engine Optimization) เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ของเรามีโอกาสสูงขึ้นในการติดอันดับต้นๆ ในผลการค้นหาของ Search Engine อย่าง google.com หรือ bing.com
ส่วนถ้ากลุ่มเป้าหมาย คือ คนในแวดวงการทำเว็บไซต์ หรือนักพัฒนาเว็บไซต์ เราสามารถที่จะใช้คำศัพท์เฉพาะที่รู้จักกันดีในแวดวงการได้เลย และบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายยืดยาว

WordPress เป็น Web CMS (Web Content Management System) ตัวหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้งานจำนวนมาก เนื่องจากความง่ายในการติดตั้ง และการใช้งาน อีกทั้งยังสนับสนุนการทำ SEO เป็นอย่างดี
4. เตรียมข้อมูลที่จะใช้ในงานเขียนให้เพียงพอ
ก่อนจะลงมือเขียนจำเป็นต้องประมวลความรู้ที่เรามี ตลอดจนหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่จำเป็นต้องใช้ในงานเขียน หากมีไม่เพียงพอ สามารถหาเพิ่มเติมได้โดยการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง การสังเกต การทำแบบสอบถาม เป็นต้น และที่สำคัญข้อมูลที่เราจะนำไปใช้นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้

5. วางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนออะไรบ้าง
ในตอนเริ่มต้นเราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเขียนเนื้อหาอะไรลงไปในบทความ โครงเรื่องจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ความคิดของเราแจ่มชัดขึ้น

การวางโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายของเรื่อง และจัดลำดับเนื้อหาความคิดหรือหัวข้อเรื่องที่เราจะเขียนให้ชัดเจนก่อนลงมือเขียนจริง

โดยเมื่อวางโครงเรื่องแล้ว จะช่วยให้เราทราบถึงเนื้อหาทั้งหมดที่จะต้องเขียนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง จะได้วางสัดส่วนของเนื้อหาแต่ละหัวข้อให้เหมาะสม ไม่เขียนหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดยาวเกินไป และเราจะเขียนเนื้อหาได้ครบถ้วนทุกหัวข้อ ไม่หลงลืมเขียนบางหัวข้อไป ไม่เขียนออกนอกเรื่อง และไม่เขียนเนื้อเรื่องซ้ำซ้อน

โครงเรื่องยังมีประโยชน์ทำให้มองเห็นว่ามีเนื้อหาหรือประเด็นใดบ้างที่เรายังไม่มีข้อมูล หรือยังไม่รู้ดีพอ จะได้เตรียมข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้โครงเรื่องยังช่วยให้มองเห็นลำดับเนื้อหาของเรื่องที่สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันได้ชัดเจน ทำให้เราเรียบเรียงเนื้อหาได้สะดวกขึ้น ไม่สับสนจนเขียนเนื้อเรื่องวกวน

การเขียนโครงเรื่องมีขั้นตอน ดังนี้

รวบรวมความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะเขียน แล้วเขียนรายการความคิด หรือประเด็นสำคัญที่เราจะใส่ในบทความ ว่ามีอะไรบ้าง เป็นข้อความสั้นๆ เขียนเป็นข้อๆ
นำรายการความคิดจากข้อแรกมาพิจาณา ตัดรายการที่ไม่สนับสนุนจุดมุ่งหมายและอยู่นอกขอบข่ายของเรื่องออกไป
จัดหมวดหมู่หรือแยกประเภทความคิดเป็นหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อยต่างๆ โดยรายการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอยู่รวมกันได้ ก็นำมาจัดไว้เป็นพวกเดียวกัน
จัดลำดับความคิด โดยเรียงลำดับว่าหัวข้อใดควรอยู่ก่อน หัวข้อใดควรอยู่หลัง เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องสัมพันธ์กัน อ่านเข้าใจง่าย และติดตามเรื่องราวได้โดยไม่สับสน
เขียนเป็นตัวโครงเรื่องจริงๆ จัดลำดับหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยให้เป็นระเบียบ
ตรวจทานโครงเรื่องให้ดี ถ้าพบว่ายังมีจุดบกพร่องส่วนไหนให้แก้ไขก่อน ถ้าเราวางโครงเรื่องไม่ดี บทความที่เขียนออกมาก็จะไม่ดีเช่นกันค่ะ โดยโครงเรื่องที่ดีจะต้อง…
– ไม่ให้มีหัวข้อที่ไม่อยู่ในขอบข่ายของเรื่อง
– หัวข้อที่เป็นหัวข้อหลักแต่ละข้อควรมีความสำคัญเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ไม่นำหัวข้อย่อยมาเป็นหัวข้อหลัก ไม่เช่นนั้นเนื้อเรื่องจะขาดความสมส่วน
– หัวข้อใหญ่แต่ละข้อจะต้องมีเนื้อหาแตกต่างกัน หากมีส่วนซ้ำซ้อนกัน เมื่อขยายความจะทำให้เรื่องวกวนเข้าใจยาก
– ลำดับความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นอย่างดีแล้ว

6. ลงมือเขียน
นำโครงเรื่องที่วางไว้มาเขียนขยายความในแต่ละหัวข้อให้ครบถ้วน และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ควรอ่านบทความตรวจทานซ้ำดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ลื่นไหล สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ ได้ผลตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ นอกจากนี้ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่นำไปใช้ เช่น ข้อมูลค่าสถิติที่ใช้ประกอบ และตรวจการสะกดคำด้วย ถ้าไม่มีจุดบกพร่องใดๆ แล้ว จึงนำบทความไปเผยแพร่ค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าผู้อ่านจะได้รับรู้แนวทางในการเริ่มต้นเขียนบทความไปทดลองใช้ดู และมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะลงมือเขียน ตัวผู้เขียนเองก็มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงทักษะด้านการเขียนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเขียนบทความจากหลายที่ และกลายเป็นบทความนี้ขึ้นมาค่ะ ฝากสำหรับคนที่ยังไม่เคยเขียนบทความเรื่องอะไรมาก่อนเลย (แต่อยากที่จะเขียน) ลองเลือกเขียนเรื่องที่เรามีความรู้มีความชำนาญ (สอนทำอะไรสักอย่างก็ได้ค่ะ) การที่เราเขียนบทความออกมาสักเรื่อง ไม่เพียงแต่ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ ตัวเราก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยได้ทั้งความรู้และได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เพราะก่อนจะลงมือเขียนได้ต้องหาความรู้หาข้อมูลให้เพียงพอ และกว่าจะเขียนออกมาได้ก็ต้องคิดเรียบเรียงเนื้อหาก่อน และเมื่อบทความของเราได้เผยแพร่ออกไป