การใช้ภาษาในการเขียนบทความ

การใช้ภาษาในการเขียนบทความควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่

1. ระดับภาษา

การเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ควรพิจารณาใช้ระดับภาษาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ ภาษาปาก ภาษาไม่เป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ และภาษาทางการ โดยผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ประเภทของบทความ เนื้อหา และกลุ่มผู้อ่านเช่น กรณีที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ ควรใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ จนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนระดับกึ่งทางการ หากมีบางตอนหรือบางข้อความที่ต้องการแสดงอารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม อย่างชัดเจน อาจจะใช้ภาษาพูดระดับภาษาปาก ที่ไม่หยาบคายก็ได้

กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป บทความสารคดีท่องเที่ยว ควรใช้ภาษาพูดในระดับภาษาปาก เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองกับผู้อ่าน จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำ หรืออาจจะใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทความ และกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย

กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ ควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์ และเรื่องราวที่สัมภาษณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนจึงสามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตั้งแต่ ภาษาพูดระดับภาษาปาก จนถึงภาษาเขียนระดับทางการ

กรณีเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ ซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่งานวรรณกรรมหรือศิลปะ จึงควรใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ จนถึงภาษาในระดับทางการ

กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ และเชิงวิชาการ ควรใช้ภาษาเขียนกึ่งทางการจนถึงระดับทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนต้องการสร้างเอกลักษณ์ หรือลีลาการเขียนเฉพาะตน ก็สามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตามความต้องการของตนเอง

2. โวหาร

กรณีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา ควรใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบ เช่น อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น เพื่อแสดงเหตุผลโน้มน้าวใจผู้อ่าน

กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบได้แก่ สาธกโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้ง

กรณีเขียนบทความสารคดีท่องเที่ยว บางตอนควรเลือกใช้พรรณนาโวหาร เพื่อให้เห็นความงดงามของทัศนียภาพ นอกเหนือจากการใช้บรรยายโวหาร ส่วนโวหารประกอบได้แก่ อุปมาโวหาร สาธกโวหาร กรณีที่ต้องการเล่าเกร็ดความรู้ ตำนาน นิทานต่างๆ ประกอบสถานที่

กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ บทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ บทความวิชาการ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ สาธกโวหาร

กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ เทศนาโวหาร อุปมาโวหาร และสาธกโวหาร

3. ภาพพจน์

การเขียนบทความควรเลือกใช้ภาพพจน์เพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิด ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น

บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา มักจะใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิภาคพจน์ อติพจน์ ปฏิปุจฉา นามนัย เป็นต้น

บทความสารคดีท่องเที่ยว มักจะเลือกใช้ภาพพจน์เช่น อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อติพจน์ สัญลักษณ์ เป็นต้น

ส่วนบทความชนิดอื่นๆ มักจะเลือกใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิปุจฉา เป็นต้น แต่บทความวิชาการมักจะไม่ใช้ภาพพจน์ในการเขียนบทความประเภทนี้ เพราะต้องการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มากกว่าจะให้เกิดภาพ หรืออรรถรส