7 เคล็ดไม่ลับ เขียนบทความให้คนชอบอ่าน เพราะเนื้อหาดีอย่างเดียวยังไม่พอ

การเขียนบทความให้คนอ่านนั้นมีวิธีและเทคนิคแตกต่างกัน รวมไปถึงบทความบนโลกออนไลน์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันเลยก็ว่าได้ เพราะบางทีเนื้อหาดีๆอย่างเดียวก็ไม่พอ มันต้องมีลูกล่อลูกชนมาใช้กันหน่อย งัดเทคนิคมาฟาดฟันกันอย่างเต็มเหนี่ยวเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ 7 อย่างมาฝากกันเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ได้ในอนาคต

1. โครงสร้างดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

นอกจากเรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องการแบ่งโครงสร้างแบบ บทนำ-เนื้อหา-บทสรุปแล้ว เรายังมีเทคนิคอื่นๆในการวางโครงสร้างบทความให้เป๊ะปังได้อีก เช่นเทคนิค 4P ซึ่งก็คือ

  • Promise สัญญาว่าคนอ่านจะได้รับอะไรจากการอ่านบทความนี้จนจบ เช่น เทคนิค วิธีแก้ปัญหา หรือความรู้
  • Proof แสดงถึงความน่าเชื่อถือ เช่นอ้างอิงแหล่งที่ว่าให้รู้ว่าเรื่องที่คุณเขียนนี้ไม่ได้แต่งขึ้นมาลอยๆนะ!
  • Picture ใส่ภาพลงไป เพื่ทำหน้าที่ทั้งพักสายตาจากตัวหนังสือจำนวนมาก และเพื่อให้คนอ่านมองเห็นภาพของสิ่งที่คุณกำลังพูดถึงได้ดียิ่งขึ้น
  • Push กระตุ้นให้คนอ่านทำอะไรบางอย่างหลังอ่านจบ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ต่อ แสดงความคิดเห็นหรือลงมือทำอะไรซักอย่าง

2. เป็นกันเองอีกซักหน่อย

การเป็นกันเองจะทำให้คนอ่านรู้สึกสบายใจและอยากจะโต้ตอบตามธรรมชาติของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ การใส่ความเป็นกันเองและความเป็นมนุษย์ ไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่ากำลังคุยอยู่กับหุ่นยนต์จะช่วยให้บทความดูน่าอ่านและสร้างความรู้สึกดีๆให้กับคนอ่านได้ด้วยนั่นเองค่ะ

รวมไปถึงการทำให้คนอ่านรู้สึกว่ารู้จักเรา ด้วยการแนะนำตัว ใส่รูปและประวัติคนเขียนไว้ที่ท้ายบทความก็จะเพิ่มความเป็นกันเองและใกล้ชิดกับคนอ่านเข้าไปอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว

3. เว้นบรรทัดบ่อยๆ

การอ่านบทความไม่ว่าจะเป็นผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือเล็กๆ ถ้ามีตัวหนังสือเรียงกันเป็นพรืดก็ชวนให้รู้สึกลายตาไปหมดแล้ว การเว้นบรรทัดบ่อยๆจึงจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการเขียนบทความออนไลน์เลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยๆ เราควรเว้นบรรทัดบ้างทุกๆ 5 บรรทัดค่ะ เพื่อความไม่แน่นเกินไปของตัวหนังสือนั่นเอง

4. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

การศึกษาก่อนว่าคนอ่านน่าจะอยากอ่านอะไรก็ถือเป็นเทคนิคที่ดีในการเลือกเขียนบทความค่ะ วิธีง่ายๆในการสำรวจความต้องการของคนอ่านก็อาจจะเป็น Google Trend ที่เก็บข้อมูลการค้นหาไว้ว่ามีคนสนใจ Keyword นั้นๆมากน้อยแค่ไหนในช่วงไหน

หรือไม่ก็ Google Keyword Planner ที่ค้นหาคำต่างๆว่ามีคนค้นหาคำนั้นๆมากแค่ไหนนั่นเอง

5. ภาษาสนุก อ่านง่าย ใครๆ ก็ชอบ

ใครที่ยังเขียนบทความด้วยภาษาทื่อๆน่าเบื่อแบบหนังสือเรียนนี่คงต้องบอกได้เลยว่าพลาดดด! มากกก!! เพราะขนาดหนังสือเรียนเรายังขี้เกียจอ่านกันขนาดนั้น นับประสาอะไรกับบทความออนไลน์ บอกเลยว่าเนื้อหาปังแค่ไหน เจอภาษาชวนง่วงเข้าไปก็หลับหมด! อย่าลืมใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปแล้วเขียนให้อ่านง่ายขึ้น โดยอาจจะลองใช้วิธีแบบนี้

  • อธิบายศัพท์เฉพาะกันหน่อย เวลาเจอศัพท์ที่ค่อนข้างเฉพาะทางก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าคนอ่านอาจจะไม่รู้จักก็ได้ เพราะฉะนั้นพยายามเขียนอธิบายให้ได้มากที่สุดนะคะ ถ้าคนที่รู้ความหมายอยู่แล้วส่วนใหญ่เข้าจะอ่านข้ามกันไปเองค่ะ
  • ใช้ภาษาพูด ถ้าภาษาที่คุณใช้มันดูทางการมากเกินไป คนอ่านจะเกร็งและไม่อยากอ่านต่อ คุยกับเพื่อนยังไงก็ใช้ภาษาแบบนั้นแหละ แค่ให้มันดูสุภาพๆหน่อยก็พอแล้วค่ะ
  • ยกตัวอย่างแล้ว อุปมาอุปไมยด้วย การเขียนบทความให้คนอ่านเห็นภาพ ก็จะต้องยกตัวอย่างกันหน่อย แล้วถ้าคุณยกตัวอย่างมาได้ดีคนอ่านก็จะมีอารมณ์ร่วมไปด้วยไม่ยากค่ะ

6. Linkเข้า Linkออก ใช้งานให้คุ้ม

นอกจากจะให้คนอ่านสนใจแค่บทความเดียวแล้ว เราควรมีการใช้ Internal Linking เพื่อให้คนอ่านไปอ่านบทความอื่นๆของเราด้วย ไม่ใช่แค่ใส่ Related Post เพราะการใช้ Internal Linking ได้ผลมากกว่าเห็นๆ

แล้วก็อย่าลืม External Linking ที่เอาไว้อ้างอิงด้วย อย่ากลัวว่าจะเป็นการส่งคนออกนอกเว็บ เพราะถ้าบทความเราดีจริงๆยังไงเขาก็จะกลับมาค่ะ

7. อย่าลืมเช็คเรทติ้ง!!

วิธีที่ได้ผลที่สุดในการเช็คว่าคนชอบบทความของเรามากน้อยแค่ไหนก็คงหนีไม่พ้น Google Analytics ที่สามารถใช้ Content Analysis Dashboard ได้ ซึ่งสามารถเห็นได้ทั้งจำนวน Page view, Average Time on Page, Bounce Rate และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อเราจะได้รู้ว่าคนชอบบทความแบบไหน แชร์แบบไหนกันเจอ แล้วเราจะปรับยังไงได้บ้างนั่นเองค่ะ

เป็นยังไงคะ นอกจากเนื้อหาแล้วเห็นได้ชัดเลยว่าการนำเสนอเองก็มีผล ไม่ใช่แค่ตัวเนื้อหา แต่มันต้องมีเทคนิคกันหน่อย รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ เพื่อที่จะได้มีคนมาอ่านบทความของเรามากๆนั่นเอง

แนะนำการเขียนบทความ การเขียนเรียงความ วิธิการเขียนเรียงความ