หลายคนเวลาเริ่มเรียนภาษาอังกฤษนั้นอาจจะรู้สึกว่าตัวเองช่างมีปัญหาเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะ Skill การเขียน ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าจะต้องต่อคำต่อประโยคอย่างไรให้สวยงาม หรือบางคนอาจจะพาลไม่รู้เลยด้วยว่าควรจะจบ Paragraph แบบไหน วันนี้เราขออาสาพามาดู 5 ทริคเด็ดฉบับย่อที่รับรองว่าอ่านแล้วการเขียน Paragraph ของคุณจะดูง่ายขึ้นทันตาเห็นเชียวล่ะ
1. เขียนหัวข้อให้ถูกแบบฟอร์ม
ถึงแม้ว่าจะมีคำบอกว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากปก” แต่สุดท้ายแล้วเราก็มองปกก่อนอยู่ดี การเขียน Paragraph นี้ก็เช่นกัน เราจะต้องเลือกหัวข้อให้น่าสนใจและกระชับ อาจจะเป็นเพียงคำไม่กี่คำ วลีสั้นๆ หรือประโยคเต็มที่ไม่ยาวเกินไปก็ได้ แต่ว่าการขึ้นต้นหัวข้อน่ะ มีข้อแม้อยู่ว่าเราจะขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่ก่อนทุกครั้งยกเว้น a/an/the, Verb to be และ preposition ที่ไม่ได้อยู่หน้าประโยค อาทิเช่น My Husband and His Characteristics หรือ Loneliness is Everyone’s Experiences เป็นต้น
2. เริ่มต้น Paragraph ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง!
ในการเขียน Paragraph นั้นเราก็จะต้องมีประโยค Hook เสียก่อน ซึ่งมันก็คือเจ้าประโยคที่ทำให้คนอ่านสนใจงานเขียนของเรานั่นเอง ทำหน้าที่คล้ายๆ กับคำนำเวลาเราเปิดหนังสืออ่านไงล่ะ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยคำถามเช่น Have you ever been lonely before? (เคยรู้สึกเหงาบ้างรึเปล่า?)
เห็นไหมว่าถ้าเราตั้ง Hook ขึ้นมาแบบนี้คนอ่านก็จะรู้ทันทีเลยว่าเราจะมาพูดถึงความเหงากันนะ หรืออาจจะขึ้นด้วยการเล่าเรื่องก็ได้ เช่น I was seven years old when I first met my husband. ประโยคประมาณนี้ก็ทำให้ทราบเช่นกันว่าเราจะเล่าประสบการณ์ที่เราอยากจะแชร์ เป็น Hook แบบที่น่าสนใจไม่แพ้คำถามเลย หรืออาจจะขึ้นด้วย Opinion ก็ไม่ผิดนะ เช่น Dogs are cuter than cats. คนอ่านก็จะทราบทันทีว่าเราจะเปรียบเทียบหมาและแมวใน Paragraph ของเรา
3. ใช้ประโยคชี้ชัดให้เห็นแนวทางไปเลยว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรใน Paragraph นี้
สำหรับ Paragraph ในภาษาอังกฤษนั้นมักจะมีประโยคชี้แจงหรือ Topic Sentence แฝงอยู่เสมอ ซึ่งเจ้าประโยคนี้มีประโยชน์มากๆ เลยทีเดียวล่ะ ถ้าเปรียบกับหนังสือเจ้าประโยคนี้ก็คล้ายๆ กับสารบัญที่จะมาแนะแนวทางว่าในเราจะพูดเกี่ยวกับอะไรและกี่หัวข้อ ขอยกตัวอย่างจากสามประโยคด้านบนก็แล้วกันนะ จะได้เห็นกันชัดๆ เช่น
- Loneliness comes from three main reasons. There are…
- He has four main characteristics.
- The reasons why dogs are cuter are…
และหลังจากประโยคชี้แจงเหล่านี้เราก็จะเขียนคร่าวๆ เกี่ยวกับเนื้อหาค่ะ เป็นเหมือนกับ Intro ที่บอกคนอ่านว่าในบทความของเราจะมีเรื่องราวดังนี้นะ ตัวอย่างก็…
- He has four main characteristics that I love. He is kind, warm, handsome and good at playing guitar.
นั่นแปลว่าในบทความที่เราจะเขียนนั้นเราจะไม่ออกนอกกรอบของสี่หัวข้อนี้ ซึ่งมันก็จะทำให้เราเขียนได้ Get to the point และครอบคลุมนั่นเอง
4. ใช้หลักการเดียวกับป้ายบอกทางเป็นวิธีที่ดีเลยล่ะ
อะไรคือหลักการเดียวกับป้ายบอกทางน่ะเหรอ? มันหมายความว่าเราในฐานะคนเขียนต้องบอกคนอ่านทุกครั้งว่าเราจะเปลี่ยนหัวข้อแล้วนะ ซึ่งคำจำพวกนี้ก็เรียกว่า Signal Word นั่นเอง ทำหน้าที่เหมือนกับป้ายบอกทางที่บอกให้รู้ว่าทางต่อไปที่เราจะไปคืออะไรอย่างไร ไม่รอช้ามาดูตัวอย่างกันเลย
- “First, his kindness always makes me feel good.”
เรามักจะใช้คำว่า First สำหรับการกล่าวถึงประเด็นแรก แต่จริงๆ แล้วเราก็สามารถใช้คำอื่นหรือประโยคอื่นก็ได้เช่น Firstly, First of all, Let’s start with… หรือ Begin with… ก็แล้วแต่ชอบเลยนะ
ต่อมาเมื่อเราจะกล่าวถึงประเด็นต่อไปก็มีอีกหลายคำให้เลือกสรรนะ มาลองดูจากตัวอย่างกันเถอะ
- “Next, he treats me warmly like I am a princess.”
ซึ่งคำว่า Next นั้นก็ใช้สำหรับเมื่อเราจะกล่าวถึงประเด็นต่อไปที่ไม่ใช่ประโยคแรก ซึ่งบางทีเราก็อาจจะเลือกใช้ Then, Moreover, In addition หรือ The second ก็ไม่เลวเหมือนกัน แต่ถ้าเราจะกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเราก็อาจจะใช้คำว่า Last, Lastly, Finally หรือ The last one ในตำแหน่งเดียวกับคำว่า Next ได้เลยนะ ตัวอย่างเช่น
- “Lastly, his talent at guitar playing is amazing.”
หลังจากเราเขียนประโยคที่มีป้ายบอกทางหรือ Signal Words เรียบร้อยแล้วก็สามารถบรรยายรายละเอียดเพิ่มได้อีก 3-5 ประโยคนะ ซึ่งพอเขียนเสร็จเราก็จะได้เป็น Paragraph ที่มีความยาวกำลังดีเลยล่ะ
5. ทุกบทความจะต้องมีบทสรุป!
และสุดท้ายก็ขาดไม่ได้เลยสำหรับบทสรุปของบทความ ซึ่งการสรุปอย่างง่ายนั้นก็มีอยู่เช่นกัน เราจะเรียกวิธีนี้ว่าการ Restatement นั่นเอง วิธีการที่ว่านั้นก็คือแบบนี้
- To sum up, my husband has four characteristics those are kind, warm, handsome and good at playing guitar.
วิธีการนี้ก็คือการนำเอาสิ่งที่เราเขียนใน Topic sentence มาเขียนซ้ำอีกครั้งเป็นการสรุปนั่นเอง