10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จของการเขียนบทความ

จุดประสงค์ของบทความวิชาการที่ดี คือ สามารถถ่ายทอดข้อมูลมาสู่ผู้อ่านได้รวดเร็วและเข้าใจได้ง่าย มีผู้เขียนหลายๆ คนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพยายามเขียนบทความเป็นทางการมากเกินไป ดังนั้น จึงไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหา สาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายเท่าที่ควร ให้คุณลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. อย่าเป็นกังวล คนทุกคนเขียนบทความกันได้ทั้งนั้นหากจะไม่ไปกังวลมากเกินไป คนส่วนใหญ่มักกังวลว่าจะเขียนได้ไม่ดี กังวลว่าเขียนไปแล้วคนที่เรียนสูงๆ จะมาคอยจับผิด หรือกังวลว่าจะเขียนได้ไม่สมกับภูมิรู้ที่คุณมี จงทำใจให้ได้ว่าคุณเขียนบทความนี้เพราะเป็นเรื่องที่คุณมั่นใจว่าคุณรู้ คุณเข้าใจเป็นอย่างดี เขียนในเรื่องที่คุณมีประสบการณ์และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน อย่างน้อยที่สุดคุณได้ทำประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยเสนอข้อมูลที่คุณคิดว่าถูกต้องที่สุดออกมา จงเขียนในทำนองเดียวกับที่คุณพยายามจะอธิบายด้วยคำพูดให้ใครสักคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องนี้ฟังแล้วเขาสามารถเข้าใจได้

2. เลือกหัวข้อที่จะเขียน บทความที่ดี คือ บทความที่สามารถอธิบายบางสิ่งบางอย่างที่ให้ประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่งแก่ผู้อ่าน เช่น ให้ความรู้รอบตัว ให้ความรู้ที่นำไปใช้งานได้ ให้แนวคิดที่น่าสนใจ เป็นต้น แต่ไม่ควรเป็นบทความที่เพียงตั้งใจแสดงว่าคุณมีความรู้สูงกว่าผู้อ่าน ดังนั้น ควรเลือกหัวข้อที่คิดว่าผู้อ่านจะสนใจและได้รับประโยชน์

3. วางแผนก่อนเขียน สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับนักเขียนมือใหม่ การเขียนบทความนั้นไม่ยากนัก แต่มักจะมายากเอาตรงที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร เพราะใจมัวแต่กังวลอยากจะเขียนทีเดียวให้ใช้ได้เลย กว่าจะเขียนบรรทัดแรกหรือย่อหน้าแรกได้แต่ละที คิดแล้วคิดอีก อะไรๆ มักจะไปเรียบเรียงอยู่ในสมองก่อน การเริ่มต้นจึงดูยากเย็นแสนเข็ญ พลอยทำให้ไม่ได้เริ่มต้นสักที มีหลักการเริ่มต้นง่ายๆ คือ ควรวางเค้าโครงหัวข้อย่อยต่างๆ ที่ต้องการจะเขียนลงในเศษกระดาษก่อน (ควรให้แต่ละหัวข้อ อยู่คนละแผ่นกระดาษ) ในแต่ละหัวข้อย่อยอาจจะมีใจความสำคัญที่ต้องการใส่ลงไป อาจเขียนออกมาเป็นท่อนๆ คือ นึกถึงจุดสำคัญหรือประโยคสำคัญอะไรได้ ให้เขียนใส่ลงไปก่อน จากนั้นจึงค่อยมาจัดเรียงลำดับหัวข้อย่อยและประโยคสำคัญเหล่านั้นตามลำดับความต่อเนื่องที่ควรจะเป็น เช่น หัวข้อไหนควรอยู่ก่อนจึงจะอ่านเข้าใจง่าย ข้อสำคัญคือ ไม่ควรเอาส่วนปลีกย่อยขึ้นก่อน เพราะผู้อ่านจะเบื่อเร็ว ควรจะเอาหัวข้อที่กล่าวรวมๆ ขึ้นมาก่อน แล้วเก็บหัวข้อที่เน้นรายละเอียดเอาไว้ทีหลัง อย่าลืมว่าเนื้อเรื่องต้องเรียงลำดับต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้อ่านลำดับความคิดและติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้น มาถึงขั้นนี้ก็เหลือเพียงแต่ใส่รายละเอียดลงไปในแต่ละหัวข้อ และเพิ่มคำนำในตอนต้นเรื่องสักหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว

4. ไม่ต้องเขียนรวดเดียวจบ ถ้าไม่ใช่นักเขียนอาชีพจริงๆ แล้ว ยากที่จะเขียนให้จบรวดเดียวได้ ควรเขียนเพียงครั้งละ 1 หรือ 2 หัวข้อที่สำคัญก็พอ  ควรเขียนแต่ละหัวข้อแยกกระดาษกันคนละแผ่น แล้วขยายแนวความคิดของแต่ละหัวข้อย่อยลงไปบนกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงตามลำดับหัวข้อ หัวข้อไหนที่ยากหรือยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรให้เก็บไว้ก่อน เขียนหัวข้อที่คิดว่าจะเขียนได้เร็วก่อน เขียนไปเขียนมาแล้วมักจะนึกออกเองว่าจะเขียนหัวข้อที่เหลือนั้นอย่างไร

5. เชื่อมโยงความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน หลังจากเขียนเนื้อความของหัวข้อสำคัญๆไปแล้ว ให้จัดเรียงกระดาษตามลำดับหัวข้อที่ได้วางแผนมาก่อน ลองอ่านทานดูว่ายังขาดข้อความอะไรมาเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อเข้าด้วยกันหรือไม่ ถ้ายังขาดอยู่ให้เพิ่มข้อความหรือเพิ่มหัวข้อเข้ามาอีก โดยให้ข้อความของแต่ละหัวข้อสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ไปกันคนละเรื่อง ในการนี้อาจจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงประโยคในตอนต้นหรือตอนท้ายของแต่ละหัวข้อไปบ้างเพื่อความสอดคล้องกัน

6. ลงรูปที่จำเป็น กราฟ ตาราง โมโนแกรม หรือรูปประกอบ จะช่วยให้การอธิบายต่างๆ ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น และยังช่วยกระตุ้นความสนใจได้อีกด้วย แต่ละรูปควรมีคำอธิบายอยู่ใต้รูปด้วยว่าเป็นอะไร ใช้ทำอะไรหรือต้องการแสดงให้เห็นอะไร

7. ให้รูปและเนื้อหาสอดคล้องกัน ทุกครั้งที่ข้อเขียนอ้างถึงรูป ควรอ่านตรวจสอบด้วยว่า ข้อเขียนตรงกับข้อมูลในรูปหรือไม่ เช่น ในบทความเขียนว่าจากรูป 1 สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในช่วงสงกรานต์ ให้ตรวจสอบดูว่ากราฟในรูปที่ 1 แสดงอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่

8. ตรวจชื่อบทความและข้อความนำเรื่อง ถ้ายังตั้งชื่อบทความและเขียนข้อความในช่วงต้นๆเรื่องยังไม่เรียบร้อยดี ให้ย้อนกลับไปใหม่ ผู้เขียนบางคนอาจเขียนส่วนนี้ก่อน แต่บางคนสะดวกที่จะเขียนทีหลังสุด เพราะเขียนตอนแรกอาจจะยังนึกข้อความนำเรื่องไม่ได้ ตรวจดูชื่อบทความและข้อความนำเรื่องว่าชี้นำผู้อ่านหรือเปล่าว่า บทความนี้ช่วยเขาได้อย่างไร ให้ประโยชน์อะไรกับเขา ไม่ใช่ว่าต้องให้อ่านจนจบเรื่องก่อนแล้วจึงจะทราบว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร และถ้าเป็นไปได้ควรจะมีข้อความตัวโตๆ 1-2 บรรทัดโปรยอยู่ใต้ชื่อเรื่องเพื่ออธิบายคร่าวๆ ว่า บทความนี้เกี่ยวกับอะไร เป็นการจูงใจให้ผู้อ่านสนใจอ่านมากขึ้น

9. แก้สำนวน ลองอ่านทบทวนบทความของคุณให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ดูว่าเนื้อหาตรงกับจุดมุ่งหมายหรือไม่ มีสำนวนที่อ่านแล้วกำกวมหรือไม่ มีศัพท์บางคำหรืออักษรย่อบางตัวที่ผู้อ่านจะไม่เข้าใจบ้างหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจ อาจขอให้เพื่อนสักคนหนึ่งซึ่งรู้เรื่องนั้นน้อยกว่ามาลองอ่านดูซิว่าเขาสามารถเข้าใจได้ตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ถ้าไม่ ลองหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

10. เขียนคำสรุป การเขียนไม่จำเป็นต้องขึ้นหัวข้อย่อยว่า “สรุป” เพราะเมื่อใดที่เนื้อหาหมดหรือสิ้นสุดของบทความแล้ว ย่อมหมายถึงการสรุป การสรุปที่ดี ผู้เขียนอาจมีคำชี้ชวนให้ผู้อ่านคิด ให้ลองปฏิบัติ หรือเป็นการสรุปประเด็นสำคัญของเรื่องแล้วทิ้งท้ายให้ผู้อ่านคิดหรือสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากบทความต่อ