แนะนำ วิธีการเขียน “เรียงความ” รอบ Portfolio เขียนยังไง ให้น่าอ่าน

สวัสดีค่ะ TCAS รอบ Portfolio ที่ใกล้ถึงนี้ น้องๆ กำลังรวบรวมผลงานเพื่อสร้าง Portfolio กันอยู่ใช่มั้ยคะ แต่อย่าลืมนะว่าบางคณะ พอร์ตเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการคัดเลือก แต่อาจจะมีส่วนประกอบอื่นๆ อย่างเช่น “การเขียนเรียงความ” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นเข้าคณะนั้นๆ ด้วย
การเขียน 1 หน้ากระดาษ A4 ที่เรียกว่า “เรียงความ” นั้น เป็นเรื่องใหญ่สำหรับน้องๆ หลายคน เพราะไม่ชินกับการต้องเขียนอะไรยาวๆ และไม่รู้จะต้องเขียนอะไรให้ถูกใจกรรมการด้วย วันนี้พี่มิ้นท์ก็เลยมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกันค่ะ

ทำไมต้องมีเรียงความในรอบ Portfolio
         ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยหรือโครงการรับตรง ที่มีให้เขียนเรียงความ ก็เพื่อแสดงทัศนคติเกี่ยวกับวิชาชีพรวมถึงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป อาจเป็นเพราะว่ารอบนี้แทบไม่ได้ใช้คะแนนสอบอะไรเลย ดูผลงานของน้องๆ เป็นหลัก การเขียนแสดงความคิดเห็นแบบนี้สามารถสะท้อนตัวตนของเราได้นั่นเอง
หัวข้อการเขียนเรียงความ ประมาณไหน
         เท่าที่สังเกตมา 1-2 ปีมานี้ เรียงความมักจะกำหนดหัวข้อไปในเชิงการแสดงความคิดเห็นหรือทัศนคติต่อวิชาชีพ ต่อการเรียน และการวางเป้าหมายในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ ถ้าเรามีเป้าหมายในใจอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องเรียบเรียงความคิดการเขียนจริงเท่านั้นเอง ลองมาดูตัวอย่างหัวข้อเรียงความกันค่ะ (หมายเหตุ ในแต่ละปี หัวข้ออาจเปลี่ยนไปได้)1. คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ม.เชียงใหม่
         
หัวข้อเรียงความ : แนะนำตนเอง ที่มีเนื้อหากล่าวถึงความฝันที่จะเป็นครูภาษาอังกฤษ
2. คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต มศว
         หัวข้อเรียงความ : ความสนใจและเหตุผลที่เลือกเรียน “รัฐศาสตร์ มศว”
3. คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ ม.ศิลปากร
         หัวข้อเรียงความ : แนวคิดและเป้าหมายของข้าพเจ้าในการศึกษาศิลปะที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์”
4. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
         หัวข้อเรียงความ : เหตุใดถึงเลือกเรียนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เคล็ดไม่ลับในการเขียนเรียงความ
1. อ่านโจทย์ให้แตกว่าเขาต้องการให้เราเขียนอะไร
         เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ ลองคิดดูว่าถ้ากรรมการอ่านหัวข้อเรื่องนึงแล้วมาเจอเรียงความอีกเรื่องนึง กรรมการจะต้องรู้สึกยังไง การตอบตรงประเด็นก็เหมือนได้คะแนนไปครึ่งทางแล้ว จากนั้น ก็ควรตอบให้ตรงประเด็น ไม่อ้อมไปอ้อมมาหรือมีแต่น้ำ ซึ่งทำให้กรรมการไม่อยากอ่านค่ะ
         ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อของรัฐศาสตร์ มศว ที่ให้เขียนเรื่อง “ความสนใจและเหตุผลที่เลือกเรียน รัฐศาสตร์ มศว”
         โจทย์ในหัวข้อนี้ อยากรู้ตรงๆ ว่าเรามีเหตุผลอะไรที่มาเลือกเรียนรัฐศาสตร์ มศว ย้ำว่าต้องกำหนดที่ มศว ด้วย บางคนเขียนเจาะแค่เหตุผลที่สนใจรัฐศาสตร์ แต่ไม่ได้พูดถึงมหาวิทยาลัยในเรียงความเลย ก็อาจจะเสียคะแนนตรงนั้นได้นะคะ ที่สำคัญ โจทย์นี้ น้องๆ สามารถแตกประเด็นออกมาได้อีกระหว่าง “ความสนใจในรัฐศาสตร์ มศว” และ “เหตุผลที่เลือกเรียน รัฐศาสตร์ มศว” โดยอาจจะใช้เหตุผลไปสนับสนุนความสนใจก็ได้
2. คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ใช้ได้เสมอ
         เราเคยเรียนมาแล้วว่าการเขียนเรียงความ จะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป นำมาใช้กับการเขียนเรียงความในรอบ Portfolio ได้เลย ถึงแม้จะกำหนดแค่ 1 หน้า A4 ก็สามารถย่อยออกเป็น 3 ส่วนนี้ได้เช่นกัน
คำนำ คือ ส่วนเปิดของเรียงความ จะเป็นจุดที่ต้องดึงความน่าสนใจเพื่อให้คนอ่านสนใจที่จะอ่านเรียงความของเราต่อไป โดยอาจจะดึงประสบการณ์ของตัวเอง การแนะนำตัวเอง (แต่ไม่ใช่การสวัสดีค่ะ) ความเข้าใจเกี่ยวกับคณะนั้นๆ หรือ เขียนนำเรื่องเพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนตอบโจทย์เรียงความในย่อหน้าถัดไปก็ได้เช่นกัน จริงๆ แล้วในส่วนของคำนำนี้ไม่มีถูกผิด เพราะเป้าหมายคือ เป็นจุดที่สร้างความน่าสนใจให้คนอ่านติดตามเรื่องราวในเรียงความต่อ ดังนั้นการเขียนหรือชูประเด็นก็ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราให้เห็นที่มาที่ไปของเราค่ะ เช่น (จากตัวอย่างเดิม รัฐศาสตร์ มศว พี่มิ้นท์จะลองเขียนเป็นเชิงแนะนำตัว ปล.เป็นเรื่องสมมติเพื่อยกตัวอย่างนะคะ)

“ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ช่วงที่ได้เปลี่ยนจากมัธยมต้นมาเป็นมัธยมปลาย ก็เริ่มมีคำถามจากผู้ปกครองว่าโตขึ้นอยากทำงานอะไร ตอนนั้นคำตอบก็คงไม่ต่างจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน คือ อยากเป็นครู อยากเป็นแอร์โฮสเตส อยากเป็นนักกฎหมาย อยากเป็น..โดยที่ยังไม่รู้จักอาชีพนั้นๆ ดีพอ จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปร่วมงาน OPEN HOUSE ของมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ จนได้รู้จักกับ “รัฐศาสตร์” รู้สึกชอบในวิชาเรียน และแนวทางประกอบอาชีพ จึงมีเป้าหมายในใจแล้วว่าจะต้องสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ให้ได้”

จากตัวอย่างที่พี่มิ้นท์ลองเขียน ก็เป็นการปูพื้นฐานของตัวเองให้กรรมการรู้ว่าเรารู้จักคณะนี้ได้ยังไง และเป็นส่วนที่นำไปสู่ส่วนถัดไปที่เป็นเนื้อหาจริงๆ นั่นเองค่ะ
เนื้อเรื่อง คือ ส่วนที่เป็นรายละเอียดหรือเนื้อหาที่เป็นใจความสำคัญของเรียงความทั้งหมด สามารถใส่เหตุผลได้เต็มที่ว่าอยากเรียนเพราะอะไร แนะนำให้ยกตัวอย่างประกอบด้วยนะคะ เพื่อให้เห็นภาพ เช่น หากต้องการจะบอกว่า “อยากเรียนเพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี” บอกแค่นี้มันกว้างและไม่มีน้ำหนักค่ะ เราใส่เหตุผลเข้าไปด้วยว่าดียังไง เปิดสอนมานานแล้ว หรือ มีรุ่นพี่บัณฑิตที่มีชื่อเสียงจากสถาบันนี้ หรือ ได้ศึกษาหลักสูตรมา มีวิชาที่น่าเรียน เป็นต้น ดังนั้นในส่วนของเนื้อเรื่อง เราสามารถใส่ความสนใจและเหตุผลเข้าไปได้เต็มที่ค่ะ         มีทริคเพิ่ม คือ หากมีเหตุผลหลายข้อ จะใส่เป็นย่อหน้าละ 1 เหตุผลก็ได้นะคะ เพื่อความสบายตาในการอ่าน และคุมเนื้อหาในย่อหน้าให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ง่ายขึ้นค่ะ (ส่วนของเนื้อหา แบ่งเป็นหลายย่อหน้าได้นะคะ)
สรุป คือ ส่วนสุดท้ายของเนื้อหาเรียงความแล้ว สามารถย้ำจุดประสงค์หรือเหตุผลที่ทำให้เราอยากเรียนที่นั่นจริงๆ หรืออาจจะปิดท้ายถึงการเตรียมตัวสอบว่าเราเตรียมตัวเพื่อคณะนี้อย่างไรบ้าง หรือเป้าหมายในอนาคตว่าถ้าได้เข้ามาเรียนแล้วจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพอย่างไร โดยหัวข้ออื่นๆ น้องๆ ก็สามารถประยุกต์ปรับให้เห็นถึงเป้าหมายในอนาคตของเราก็ได้ค่ะ
3. อย่าลืมดูความยาวของการเขียน
ข้อสำคัญคือ การทำตรงตามโจทย์ที่กำหนดค่ะ ต่อให้เขียนดี แต่ถ้ามันขาดหรือเกินไปเยอะ กรรมการอาจจะมองว่าคุณทำนอกกฎ ซึ่งเรียงความส่วนใหญ่มักจะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 (อย่าลืมเช็กในระเบียบการก่อนทุกครั้ง) นอกจากนี้ อาจจะมีกำหนดว่าให้ “เขียนด้วยลายมือ” หรือ “กำหนดฟอนท์ที่ใช้พิมพ์” ด้วยนะคะ เพื่อให้เป็นผู้สมัครสอบใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
4. ดึงประสบการณ์ ความรู้สึกของตัวเองมาใช้เขียนจริงๆ
อะไรที่เป็นเรื่องของเรา เราจะถ่ายทอดได้ดีเสมอ การเขียนเรียงความก็เหมือนกัน 1 หน้ากระดาษ A4 คนที่เขียนไม่เก่งจะมองว่ามันเยอะมาก ถ้าต้องเขียนอะไรที่มันไกลตัว จะเขียนออกมาได้ยากมากๆ ค่ะ ดังนั้นไม่ต้องมองไปไหนไกล ย้อนดูอดีตของตัวเอง หรือมองเป้าหมายอนาคตของตัวเอง ซึ่งหัวข้อเรียงความก็ไม่ค่อยต่างจากนี้เท่าไหร่ ลองดึงเรื่องของตัวเองมาถ่ายทอดเพื่อแนะนำตัวเอง มันน่าสนใจกว่าเรื่องแต่งแน่นอนค่ะ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะช่วยเพิ่มไอเดียในการเขียนเรียงความประเภทหัวข้อ “เหตุผลและแรงบันดาลใจการเข้าเรียน หรือ การทำงานในวิชาชีพ” หวังว่าน้องๆ จะได้ประโยชน์และลองฝึกเขียนกันดูนะคะ ใครยังไม่มั่นใจในการเขียน ค่อยๆ เขียนทีละย่อหน้าลงกระดาษสำรองก่อน เกลาคำให้เป๊ะที่สุด ดูเรื่องสะกดคำด้วย ถ้าเป๊ะแล้วค่อยคัดลอกหรือพิมพ์เป็นตัวจริงที่ใช้รวมเข้า Portfolio จะยิ่งทำให้งานของเราเนี้ยบยิ่งขึ้นค่ะ