เขียนบทความ อย่างไรให้มีแต่คนเปิดอ่าน

การ เขียนบทความ ถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะการเขียนคือการใช้ตัวหนังสือเพื่อสื่อสารกันระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน เพื่อถ่ายทอดข้อความ เนื้อหา สาระบางอย่างที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจ และเพิ่มจำนวนการเปิดอ่านเนื้อหาเรื่องราวของคุณให้มากที่สุด

ซึ่งหากคุณต้องการให้บทความของคุณน่าสนใจ และมีแต่คนเปิดอ่าน เราก็มีบทความดีๆ มาแนะนำ สำหรับการเขียนบทความอย่างไรให้มีคนเปิดอ่านเนื้อหาเรื่องราวของคุณมากขึ้น เพื่อทำให้ความหวังของคุณเป็นจริง เพียงคุณอ่าน และลองนำไปทำตาม หรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม ต่อยอด ตามความพอใจของคุณได้เลย

เขียนบทความ

1. ตั้งเป้าหมายในการเขียนที่ชัดเจน สิ่งแรกที่คุณควรทำก่อนเริ่มต้นในการเขียนบทความคือการตั้งเป้าหมายที่จะเขียนให้ชัดเจน ว่าบทความนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อหารายได้ หรือเพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะการกำหนดเป้าหมายในการทำบทความจะช่วยให้คุณสามารถกำหนดแนวทางในการสร้างเนื้อหาต่อๆ ไปของคุณได้ง่ายขึ้น และทำให้เนื้อหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการสับสนของผู้เข้าชมว่าเนื้อหาของคุณจะบอกอะไร ถึงแม้ว่าการเขียนในรูปแบบของการเขียนไปเรื่อยๆ เขียนทุกอย่างที่อยากเขียน หรือเขียนแบบตามกระแส จับนู่นหยิบนี่มาใส่ในบทความจะง่ายกว่า แต่การเขียนแบบนี้จะทำให้บทความของคุณไม่ชัดเจนมากพอที่จะทำให้คนติดตาม หรือทำการอ่านต่อไป

2. ให้ความสำคัญกับย่อหน้า และเว้นวรรค ในการทำบทความสิ่งที่คุณไม่ควรลืม และต้องใส่ใจอย่างมากก็คือ การย่อหน้า และเว้นวรรค โดยการย่อหน้าก็คือการแยกประเด็นของเนื้อหา หรือการตัดข้อความเพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป แต่เนื้อหาต้องสัมพันธ์กันทั้งก่อนย่อหน้า และหลังย่อหน้า ส่วนการเว้นวรรคนั้นสามารถทำได้เมื่อคุณได้เล่าเรื่องราวจบประโยค หรือการเว้นวรรคเพื่อเว้นช่วงในการอ่านให้ง่ายขึ้น และไม่ควรเว้นวรรคบ่อยหรือถี่จนเกินไป ซึ่งจะทำให้การอ่านที่ติดขัด หากคุณยังไม่มั่นใจว่าเนื้อหาที่ได้ทำขึ้นมาดีพอหรือยัง ก็ลองอ่านและทบทวนดูว่ามีตรงไหนที่อ่านแล้วรู้สึกสะดุด ไม่ลื่นไหล และก็ทำการแก้ไข เท่านี้บทความของคุณก็น่าอ่านมากขึ้นแล้ว

เขียนบทความ

3. ระมัดระวังคำฟุ่มเฟือยที่ซ้ำซาก การใช้คำซ้ำ หรือคำฟุ่มเฟือย ก็เป็นปัญหาในการเขียนบทความได้เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นคำเชื่อมที่คุณไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาในการเขียนบทความอย่างคำว่า หาก, ซึ่ง, ที่, นี้, และ, แล้ว, นั้น ก็สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกติดขัด ไม่ลื่นไหลในการอ่านได้ หากถูกใช้บ่อยเกินไป บทความของคุณก็จะไม่น่าอ่าน หรือไม่น่าติดตาม

4. เขียนให้ตรงประเด็นไม่เน้นน้ำ การเขียนให้ตรงประเด็นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะกับคนที่เขียนบทความ มาเป็นเวลานาน มักจะติดการใช้คำขยายความที่กว้างลากยาว กว่าจะเข้าแต่ละประเด็นได้ก็สูญเสียพื้นที่บนหน้ากระดาษไปมากพอสมควร โดยการแก้ไขการเขียนที่ไม่ตรงประเด็นก็สามารถทำได้ด้วยการอ่านทบทวนบทความของคุณอีกครั้งหลังจากเขียนเสร็จ และทำการตัดคำ หรือประโยคที่ไม่จำเป็นออกไป

เขียนบทความ

5. เขียนในภาษาที่เข้าใจง่าย หากบทความที่คุณได้ทำขึ้นมาเป็นเรื่องราวเฉพาะทาง อย่างเช่นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่คุณสามารถหาอ่านได้บนหน้าเว็บต่างๆ ที่บางครั้งคนเขียนก็เป็นหมอ จึงได้เลือกใช้คำศัพท์ทางการแพทย์ หรือคำศัพท์เฉพาะทางลงไปในบทความ ซึ่งคนทั่วไปที่เข้ามาอ่านก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจที่มากพอสมควร หรือบางครั้งก็อ่านไปแบบไม่เข้าใจ จนสุดท้ายก็สรุปเนื้อหาไปเองแบบผิดๆ หรือตัดสินที่จะไม่อ่านบทความนี้เลย ดังนั้นหากคุณจำเป็นจะต้องเขียนบทความเฉพาะทางจริงๆ คุณควรเลือกใช้คำ หรือภาษาที่ทำให้คนเปิดอ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ยิ่งถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาเฉพาะทางที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจได้ คุณก็หลีกเลี่ยงไปเลย

6. ดูแลเรื่องการสะกดให้ถูกต้อง การเขียนบทความที่ดีไม่ควรมีคำผิดแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งคำสะกดผิดสามารถลดอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะอ่านเนื้อหาของบทความให้น้อยลง และบางครั้งก็กระทบไปถึงภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของบทความด้วย ดังนั้นหลังการเขียนบทความเสร็จทุกครั้ง คุณควรทำการอ่านทบทวนเพื่อหาคำผิดก่อนการนำบทความไปทำการเผยแพร่

7. ต้องมีความน่าเชื่อถือ การเขียนบทความคือการถ่ายทอดเนื้อหาให้กับคนที่สนใจได้เข้ามาอ่าน มาศึกษา จึงจำเป็นจะต้องมีความน่าเชื่อถือให้มากเข้าไว้ เพื่อให้เนื้อหาของคุณถูกมองว่า มีแต่สาระความรู้ และข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดอ่าน หรือติดตามที่มากขึ้น โดยการทำบทความให้มีความน่าเชื่อถือนั้น ก็สามารถทำได้ไม่ยาก แค่คุณนำเสนอเรื่องราวที่คุณรู้จริง เข้าใจดี หาข้อมูลมาเป็นอย่างดี และมั่นใจว่าหากมีใครเข้ามาอ่านบทความของคุณ แล้วนำไปปฏิบัติจริง จะไม่เกิดผลเสียอะไรกับพวกเขา เพียงเท่านี้การทำให้บทความของคุณน่าเชื่อถือก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว

เขียนบทความ

อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่าการเขียนบทความ ถือได้ว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่จะต้องใช้แค่ตัวหนังสือในการสื่อสารเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ยังไม่มีแนวทาง หรือไอเดียในการเขียนบทความก็อย่าลืมนำเทคนิคต่างๆ ที่ได้อ่านมาไปใช้ในการสื่อสารผ่านตัวหนังสือของคุณละ