ทำความรู้จักอาชีพนักเขียนนิยาย

ทำความรู้จักอาชีพนักเขียนนิยาย

อาชีพนักเขียนอาจจะเป็นงานหลักหรืองานยามว่างก็ได้เพราะงานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้จินตการค่อนข้างสูงเลยที่เดียวและเป็นคนที่ชื่นชอบการเขียน เขียนในทุกๆสิ่งที่เรานึกขึ้น เขียนทุกๆอย่างที่เราเห็นและใช้มันให้สามารถประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวที่เราต้องการเขียนได้ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสู่การเป็นนักเขียนนิยายนั้นไม่ยาก เพราะมีแพลตฟอร์มในการเผยแพร่มากมาย หากเข้าตาสำนักพิมพ์ก็อาจได้รับการติดต่อเพื่อตีพิมพ์ หรือถ้ามีฐานแฟนคลับมากพอจะตีพิมพ์เองก็ไม่ยาก

1. เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นลงนิยาย

เดิมเว็บไซต์ลงนิยายที่ได้รับความนิยมคือ Dek-D.com เนื่องจากเป็นเว็บไซต์ที่มีการจัดหน้าให้เหมาะสมต่อการลงนิยายโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีเว็บไซต์สำหรับลงนิยายเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น ธัญวลัยReadawriteFictionlog ซึ่งมีทั้งรูปแบบเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ทำให้สะดวกสบายต่อการใช้งาน ทั้งเขียนและอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นสำหรับนิยายรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจอย่างจอยลดา คือเป็นนิยายแชทโดยเฉพาะ วิธีการอ่านต้องกดที่หน้าจอแล้วจะมีกล่องข้อความขึ้นมาทีละกล่อง เป็นการพูดคุยและโต้ตอบภายในแชท ซึ่งถือเป็นการเล่าเรื่องที่ท้าทายเพราะต้องเล่าผ่านการพูดคุยในแชทเท่านั้น

2. E-book

E-book หรือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่นิยาย โดยนิยมจัดทำเป็น E-book แบบออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ เพราะระบบปฏิบัติการในอุปกรณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้อาจเปิด E-book ไม่ได้ ดังนั้น E-book แบบออนไลน์จึงเป็นที่นิยมกว่า ซึ่งเว็บไซต์ในการขาย E-book เช่น mebmarket.com

3. สำนักพิมพ์

สำหรับคนที่อยากส่งนิยายไปที่สำนักพิมพ์โดยตรง ปัจจุบันสามารถส่งต้นฉบับไปให้พิจารณาได้ผ่านอีเมล แต่บางสำนักพิมพ์อาจยังรับต้นฉบับทางไปรษณีย์อยู่ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนส่ง ผลการพิจารณาอาจช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ ส่วนเงินตอบแทนมักได้เป็นเงินค่าต้นฉบับ และเปอร์เซ็นต์จากจำนวนเล่มที่ขายได้ อาจแตกต่างกันไปตามสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง

4. บล็อกส่วนตัว

บล็อกส่วนตัวเป็นอีกแพลตฟอร์มที่สามารถลงนิยายได้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมนักเพราะเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้น้อยกว่าแบบอื่นๆ ยกเว้นเป็นผู้ที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว หรือถ้ามีผู้ติดตามจำนวนมากบนโลกออนไลน์ก็อาจลงนิยายในบล็อกส่วนตัวและแชร์ในแอคเคาท์โซเชียลมีเดียของตนเองก็ได้

1. ใส่ใจพล็อตให้มาก

สิ่งนี้ถือเป็นหัวใจของการเขียนนิยาย เพราะพล็อตหรือการวางแผนเนื้อเรื่องทั้งหมดเป็นตัวกำหนดว่านิยายเรื่องนี้ต้องการสื่ออะไร ปมขัดแย้งคืออะไร เนื้อเรื่องจะดำเนินอย่างไร และจบแบบไหน ไม่อย่างนั้นนิยายที่เขียนก็จะมีเนื้อหาที่ออกนอกเรื่อง หรือที่เรียกว่าออกทะเล ทำให้ความน่าสนใจของนิยายน้อยลง และจะยิ่งทำให้เขียนจบได้ยากขึ้นด้วย

2. ฝึกด้วยการเขียนเรื่องสั้น

บางคนสามารถวางพล็อตได้เป็นอย่างดี มีสิ่งที่ต้องการสื่อชัดเจน แต่เมื่อเขียนออกมาแล้วไม่สามารถดำเนินเรื่องจนจบได้ ก็อาจลองกลับมาฝึกฝีมือด้วยการเขียนเรื่องสั้นก่อน เพราะถือเป็นนิยายขนาดย่อ และเมื่อเขียนจบแล้วนอกจากทำให้มีกำลังใจในการเขียนมากขึ้น ยังสามารถมองเห็นจุดเด่นจุดด้อยในงานเขียน และนำไปปรับใช้กับนิยายได้ด้วย

3. หาเอกลักษณ์ของตัวเอง

นิยายที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากเนื้อเรื่องแล้ว เอกลักษณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้นิยายของเราต่างจากนิยายของคนอื่นๆ โดยเอกลักษณ์นั้นมักเกิดจากสไตล์ส่วนตัวของผู้เขียน แต่สำหรับมือใหม่อาจจะยากเสียหน่อย เพราะต้องฝึกปรือฝีมือพร้อมกับหาเอกลักษณ์ไปด้วย ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งจากสำนวนภาษา ลักษณะตัวละคร ลักษณะฉาก วิธีการดำเนินเรื่อง หรือแก่นเรื่องที่ต้องการสื่อก็ได้

4. รับฟังคำวิจารณ์และนำมาปรับปรุง

การเป็นนักเขียนนิยายโดยเฉพาะที่ลงบนโลกออนไลน์ ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกระหว่างคำวิจารณ์ที่ติเพื่อก่อ กับวิจารณ์เพื่อความสะใจ วิธีดูว่าเป็นแบบไหนคือ ถ้าติเพื่อก่อ มักจะยกข้อบกพร่องขึ้นมาและแนะนำว่าควรแก้ไขอย่างไร ขณะที่การวิจารณ์เพื่อความสะใจ มักจะเป็นการแสดงความเห็นเชิงลบอย่างเดียว เช่น ไม่ชอบ ไม่สนุก ไม่ได้เรื่อง และไม่มีการแนะนำอะไรมาเลย ซึ่งเป็นเพียงความเห็นและรสนิยมของคนเพียงคนหนึ่งเท่านั้น เราสามารถรับฟังได้แต่ก็ควรรับแต่พอดี เพราะไม่อย่างนั้นอาจท้อและหมดกำลังใจได้

5. อาจไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เรื่องแรกๆ

แน่นอนว่าเมื่อเขียนนิยายเรื่องแรกจบ นักเขียนย่อมมีความคาดหวังว่ามันจะประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าไม่ แปลว่าเรายังต้องฝึกปรือฝีมืออีก เพราะการเขียนนิยายถือเป็นสิ่งที่ต้องเก็บประสบการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องสำนวน การสร้างปมเรื่อง ตัวละครต่างๆ ดังนั้นถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นข้อดีและข้อด้อย จากนั้นพัฒนาและปรับปรุงฝีมืออยู่เสมอ

6. ตรวจต้นฉบับให้เรียบร้อยก่อนส่งสำนักพิมพ์

สำหรับการส่งต้นฉบับ เราควรจัดหน้านิยายให้เรียบร้อย ใช้ฟอนท์มาตรฐานที่อ่านง่าย เช่น Cordia New หรือ Browallia New และมีขนาดที่เท่ากันสม่ำเสมอ ยกเว้นว่าอยากเน้นตรงชื่อของบท ถ้าต้องการเน้นบางประโยคควรใส่ตัวหนาหรือตัวเอียง ไม่ควรใช้สีเป็นการเน้น และควรอ่านตรวจทานคำผิดก่อนส่ง เพราะบ่งบอกถึงความใส่ใจนั่นเอง