รู้ไหม?? รายงาน 1 เล่ม ต้องมีอะไรบ้าง..ถึงจะออกมาดี

          สวัสดีค่ะน้องๆ พี่เมษ์เชื่อว่าในชีวิตน้องๆ ต้องผ่านการทำรายงานกันมามาก หลายเรื่อง หลายวิชา แต่เคยรู้จักองค์ประกอบของรายงานจริงๆ กันรึเปล่า วันนี้เรามาทำความรู้จักองค์ประกอบของรายงานให้มากกว่าเดิมกันดีกว่าค่ะ          ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าในรายงาน 1 ฉบับ ต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง? โดยทั่วไปองค์ประกอบหลักจะมี 3 ส่วน คือ ส่วนประกอบตอนต้น ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนประกอบตอนท้าย มาทำความรู้จักทีละส่วนกันก่อน
ส่วนประกอบตอนต้น  คือ ส่วนแรกที่จะเจอก่อนเข้าสู่เนื้อหาของรายงาน ประกอบด้วย

  • ปกนอก
  • หน้าปกใน
  • คำนำ
  • สารบัญ
  • สารบัญตารางหรือบัญชีตาราง (ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หากตารางไม่เยอะ)
  • สารบัญภาพประกอบหรือบัญชีภาพประกอบ (ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หากรูปภาพไม่เยอะ)

เนื้อเรื่อง ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรายงานค่ะ เพราะเป็นการนำข้อมูลที่เราได้ศึกาาค้นคว้ามานำเสนอ โดยประกอบด้วย

  • บทนำ
  • ส่วนเนื้อหา
  • บทสรุปหรือสรุป

ส่วนประกอบตอนท้าย เป็นส่วนส่งท้ายของเล่มรายงาน ต่อจากเนื้อหา ซึ่งก็แบ่งออกเป็น

  • บรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิง
  • ภาคผนวก
  • ดรรชนี หรือ ดัชนี (ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้)

           รู้จักองค์ประกอบคร่าวๆ ของแต่ละส่วนแล้ว เรามาเจาะลึกแจกแจงให้เข้าใจกันไปเลยว่า แต่ละส่วน ควรเขียนอย่างไร น้องๆ จะได้สามารถนำไปใช้กับรายงานของน้องๆ ได้ยังไงละคะ                                                 ส่วนประกอบตอนต้น                                             
           ปกนอก (Cover หรือ Binding)
 เป็นส่วนที่หุ้มรายงานทั้งเล่ม ประกอบด้วย ปกหน้า ปกหลัง รวมถึงสันด้วยนะคะ ส่วนนี้ควรใช้กระดาษที่มีความหนาหรือแข็งพอสมควร และสีก็ควรเหมาะกับเนื้อหาภายในเล่มหรืออาจะใช้ปกของโรงเรียนน้องๆ ตามแบบฟอร์มที่โรงเรียนกำหนดก็สะดวกเหมือนกันค่ะ อาจจะมีภาพหรือไม่มีก็ได้ค่ะ แต่ถ้าภาพต้องเหมาะกับเนื้อหาด้วยนะคะ ซึ่งข้อความที่ปรากฏบนปกนอก ประกอบด้วย

  1. ชื่อเรื่องของรายงาน อยู่ห่างจากขอบบนของหน้ากระดาษลงมาประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว โดยให้อยู่กึ่งกลางกระดาษพอดี
  2. ชื่อ – นามสกุลของน้องๆ ก็อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษเหมือนกันค่ะผู้เขียนรายงาน แต่ถ้าเป็นรายงานกลุ่ม ก็ให้น้องๆ ใส่ชื่อทุกคน โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร
  3. ชั้น – เลขที่ ขอให้เขียนแบบเป็นทางการ เช่น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ … ห้อง เลขที่ โดยให้อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษเช่นกันค่ะ
  4. ส่วนล่างของหน้าปกมีองค์ประกอบดังนี้ค่ะ
  • ชื่อรายวิชา  
  • ชื่อโรงเรียน หรือสถาบัน
  • ภาคการศึกษา ปีการศึกษา ซึ่งบรรทัดนี้ถือเป็นล่างสุดของส่วนล่างของปก พี่เมษ์แนะนำว่าควรห่างจากขอบล่าง 1.5 – 2 นิ้ว  

แต่หากคุณครูกำหนดรูปแบบของรายงานให้มีรายละเอียดเพิ่มเติม ก็ใส่ให้ครบนะคะ แต่ถ้าคุณครูไม่เข้มงวดมาก ก็โชว์ไอเดียเก๋ๆไปเลย งั้นพี่เมษ์ขอเอาไอเดียของรูปหน้าปกรายงาน แล้วก็หนังสือแบบที่น่าสนใจมาให้ชมกัน มาดูกันดีกว่าค่ะ  

หน้าปกใน (Title Page) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากปกนอก ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก ตามลำดับต่อไปนี้ค่ะ

  1. ชื่อเรื่อง ให้ชื่อเรื่องของรายงานพิมพ์อยู่ตรงกึ่งกลางของหน้ากระดาษ ห่างจากขอบกระดาษด้านบนประมาณ 2 นิ้ว และห่างจากขอบกระดาษด้านซ้ายและขวาเท่าๆ กัน แต่สมมติว่าชื่อเรื่องของรายงานนน้องยาวมากๆ ก็สามารถแบ่งเป็นสอง-สามบรรทัดได้ตามความเหมาะสม
  2. ชื่อผู้เขียน เป็นส่วนที่อยู่ถัดมา ให้ไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษเช่นเดียวกันค่ะ และก็ขอใหเขียนแบบเป็นทางการเช่นกันนะคะ อย่าเพิง่ย่อ เพื่อความสุภาพเรียบร้อยค่ะ
  3. ชั้น – เลขที่ ขอให้เขียนแบบเป็นทางการ เช่น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ … ห้อง เลขที่ โดยให้อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษเช่นกันค่ะ
  4. ส่วนท้ายของปกใน เหมือนปกนอกเลยค่ะ
  • ชื่อรายวิชาใด สถานศึกษา
  • ภาคเรียนและปีการศึกษา

โดยส่วนนี้ให้บรรทัดสุดท้ายอยู่ห่างจากขอบล่างประมาณ 1 นิ้วสรุปง่ายๆ ปกในกับปกนอกคล้ายกัน เพียงแค่เปลี่ยนจากปกแข็ง หรือกระดาษแข็ง เป็นกระดาษธรรมดาเท่านั้นเองค่ะคำนำ (Preface) คือส่วนที่น้องๆ สามารถเล่าที่มา วัตถุประสงค์ ความสำคัญ และขอบเขตของเนื้อหา รวมถึงใส่คำขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือให้รายงานของน้องๆ สำเร็จ เขียนให้เหมาะสมกับเนื้อหา ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป 2-3 ย่อหน้าก็ได้ค่ะ เพื่ออธิบายคร่าวๆว่า รายงงานของน้องๆ ทำขึ้นเพื่ออะไร ทำไมถึงทำรายงงานนี้ รายงานเล่มนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้างนั่นเองค่ะโดยส่วนนี้ให้พิมพ์คำว่า “คำนำ” ด้วยอักษรขนาดใหญ่ ไว้กลางหน้ากระดาษโดยไม่ต้องขีดเส้นใต้ และเว้นระยะให้ห่างจากขอบบน 2 นิ้ว ส่วนเนื้อหาให้พิมพ์ข้อความในบรรทัดถัดลงมา และเมื่อจบข้อความแล้วให้น้องๆ ลงชื่อ และ นามสกุลของผู้เขียน แต่ถ้าเป็นงานกลุ่มให้ลงท้ายด้วยคำว่า “คณะผู้จัดทำ” แล้วจึงจบด้วยการลงวันที่ เดือน (เขียนแบบย่อ) ปี (ไม่ต้องมี พ.ศ.) ไว้ด้วยค่ะสารบัญ (Table of Contents) ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ต่อจากคำนำ โดยส่วนนี้ ขึ้นต้นด้วยด้วยคำว่า “สารบัญ” ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่กลางหน้ากระดาษโดยเว้นห่างจากขอบบนลงมา 2 นิ้วจากนั้นน้องๆ สามารถบอกชื่อตอน บท หัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อยนั้นๆ โดยเรียงตามลำดับในเนื้อหาของรายงานของน้องๆ ด้านซ้ายของหน้าเป็นชื่อตอน บท หัวข้อต่างๆ ที่ต้องการ โดยเว้นห่างจากขอบซ้ายของกระดาษ 1.5 นิ้ว และให้มีเลขหน้าที่ตรงกับส่วนนั้นกำกับไว้ด้านขวา โดยตัวเลขหน้า เว้นห่างจากขอบกระดาษด้านขวา 1 นิ้ว
                                                    เนื้อหา                                                        บทนำ (Introduction)  เป็นส่วนเริ่มต้นของความน่าใจในรายงานของน้องๆ จึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ทำให้คนอ่านอยากอ่านรายงานของเรามากขึ้น จึงควรเขียนให้ชัดเจน น่าติดตาม เพื่อชี้แจงให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของเนื้อเรื่องที่น้องๆ ได้ค้นคว้ามานั่นเอง โดยอาจจะเขียนแค่ 1 ย่อหน้าก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหามากน้อยแค่ไหนการวางรูปแบบหน้าเหมือนกับบทอื่นๆ โดยเขียนบรรทัดแรกด้วยคำว่า “บทที่ 1” และบรรทัดถัดมาก็ใช้คำว่า “บทนำ” เพื่อเข้าสู่บทนำของน้องๆ  หรืออาจจะตั้งชื่อตามความเหมาะสม โดยวางไว้กลางหน้ากระดาษค่ะ แต่ถ้าส่วนเนื้อหาแบ่งเป็นบทแล้ว อาจใช้คำว่า “ความนำ” เพื่อนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อเรื่องแทนก็ได้ค่ะส่วนเนื้อหา (Body of Paper) สามารถแบ่งเป็นตอน เป็นบท ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมค่ะ โดยอาจจะเน้นประเด็นสำคัญๆ เพื่อให้เข้าใจประเด็นได้ง่าย เป็นลำดับ ต่อเนื่อง และสอดคล้องกัน แต่ถ้ารายงานของน้องๆ เป็นแบบสั้นๆ อาจจะแบ่งเป็นหัวข้อก็ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นบทค่ะบทสรุปหรือสรุป (Conclusion) ส่วนสุดท้ายของเนื้อหา เพื่อเน้นย้ำผลของการค้นคว้าในหัวข้อรายงานของน้องๆ โดยน้องๆ อาจจะเขียนสรุปประเด็นสำคัญจากการค้นคว้า ถ้าเนื้อหาในส่วนนี้เยอะ น้องๆ อาจจะแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งบท แต่ถ้ามีเนื้อหาไม่มากนัก อาจจะสรุปไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของเนื้อหาก็ได้ค่ะ

                                           ส่วนประกอบตอนท้าย                                            บรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิง (Bibliography หรือ References) ซึ่งก็คือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าทุกชนิด ทั้งหนังสือ อินเตอร์เน็ต เอกสาร ข่าว ฯลฯ ซึ่งการเขียนบรรณานุกรมต้องเขียนให้มีแบบแผนชัดเจน ตามรูปแบบการอ้างอิงบรรณานุกรมแบบต่างๆ เช่น*** การเขียนบรรณานุกรมทุกชนิด หากเขียนไม่จบใน 1 บรรทัด บรรทัดถัดไปให้ย่อหน้าเข้ามาประมาณ 7 อักษร    

  • หนังสือ (ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ)

ผู้แต่ง. / / ชื่อเรื่อง. / / ครั้งที่พิมพ์. / / สถานที่พิมพ์ / : / สำนักพิมพ์, / / ปีพิมพ์.ตัวอย่างสุภาพรรณ ณ บางช้าง.  ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติใน
         สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง.กรุงเทพมหานคร : สถาบันไทยศึกษา
         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2535.Herren, Ray V.  The Science of Animal Agriculture.
         Albany, N.Y. : Delmar Publishers,  1994.

  • หนังสือแปล

ผู้แต่ง. / / ชื่อเรื่อง. / / แปลโดย ผู้แปล. / / สถานที่พิมพ์ / : / สำนักพิมพ์, / / ปีพิมพ์.ตัวอย่างสตีเวนสัน, วิลเลียม.  นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ.  ทรงแปลโดย พระบาทสมเด็จ
         พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ.  กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง
         แอนด์พับลิชชิ่ง,  2536.Grmek, Mirko D.  History of AIDS : Emerging and Origin of a Modern Pandemic.
         Translated by Russell C. Maulitz, and Jacalyn Duffin.  Princeton, N.J. :
         University Press,  1990.

  • บทความ / บทความในหนังสือ

ผู้เขียนบทความ. / / ชื่อบทความ. / ใน / ชื่อบรรณาธิการ หรือ ผู้รวบรวม. / /
         ชื่อเรื่อง, / เลขหน้า. / / สถานที่พิมพ์ / : / สำนักพิมพ์, / / ปีพิมพ์.ตัวอย่างจุลลดา ภักดีภูมินทร์.  ศักดินาและฐานันดรศักดิ์. ใน เลาะวัง,
         2: 315-322.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โชคชัยเทเวศร์,
         2535.

  • บทความในวารสาร

ผู้เขียนบทความ. / / ชื่อบทความ. / / ชื่อวารสาร / ปีที่, / ฉบับที่(ปีพิมพ์): / เลขหน้า.ตัวอย่างเจตน์ เจริญโท.  การท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อมไทย ทำอย่างไรจึงจะยั่งยืน.
         นิตยสารโลกสีเขียว 2, 4(2536): 16-20.
Swazey, Judith P.; Anderson, Melissa S.; and Lewis, Karen Seashore.
         Ethical Problems in Academic Research.  American Scientist
         81, 6(1993): 542-553.

  • บทความในหนังสือพิมพ์

ผู้เขียนบทความ. / / ชื่อบทความ. / / ชื่อหนังสือพิมพ์, / (วันที่ / เดือน / ปี): / เลขหน้า.ตัวอย่างประสงค์ วิสุทธิ์.  สิทธิของเด็ก.มติชน (19 มีนาคม 2537): 18.Vitit Muntarbhorn.  The Sale of Children as a Global Dilemma.
         Bangkok Post (21 March 1994): 4.

  • สัมภาษณ์

ผู้ให้สัมภาษณ์. / / ตำแหน่ง (ถ้ามี). / / สัมภาษณ์, / วันที่ / เดือน / ปี.ตัวอย่างแม้นมาส ชวลิต, คุณหญิง.  นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย.
         สัมภาษณ์, 11 มีนาคม 2537.
Kent, Allen.  Interview, 31 January 1994.

  • อินเตอร์เน็ต

ผู้แต่ง. / / ชื่อเรื่อง. / / [ประเภทของสื่อที่เข้าถึง]. / / เข้าถึงได้จาก: / แหล่งข้อมูล/ สารนิเทศ. / ปี.ตัวอย่าง”ยาม้า ยาบ้า.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: http://www.au.ac.th/Newabac/special/
         E/index.html  2540.”Informedia : Researching Digital Video Libraries at Carnegie Mellom University.”
         [Online].  Available: http://informedia.cs.cmu.edu/html/main.html
         1998.
ภาคผนวก (Appendix) เป็นส่วนเพิ่มเติมของเล่มรายงานค่ะ เนื้อหาส่วนนี้เป็นการเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาตามความเหมาะสม แต่จริงๆ แล้ว ภาคผนวกไม่จำเป็นต้องมีเสมอไปค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากน้องๆ ทำรายงานที่ต้องเก็บข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์หรือแบบสอบถาม อาจจะมีแบบสอบถามใส่ไว้ในภาคผนวกก็ทำให้รายงานสมบูรณ์ขึ้นค่ะ

             หวังว่าคงจะได้รู้จักกับการทำรายงานกันมาขึ้นและมีแบบแผนมากขึ้นแล้วนะคะ น่าจะช่วยให้น้องๆ ทำรายงานกันได้ง่ายขึ้นนะคะ อย่าลืมว่ารูปแบบของรายงานตั้งแต่ปกนอก ปกใน เนื้อหา จนถึงสรุป บรรณานุกรมและภาคผนวก ทุกอย่างมีผลต่อความน่าสนใจ และคะแนนที่น้องๆ จะได้จากคุณครูนะคะ ขอให้ตั้งใจทำให้ดีเพราะคะแนนเก็บมีมากถึง 70% เลยนะคะ