รวบรวมความคิด อย่างไรให้ได้หัวข้อที่น่าสนใจ

รวบรวมความคิด อย่างไรให้ได้หัวข้อที่น่าสนใจ

1 ทำความรู้จักประเภทของบทความที่เราต้องการเขียน. เมื่อรู้ตัวว่าต้องการเขียนหัวข้ออะไรและมุ่งเน้นประเด็นใดแล้ว ให้ลองคิดสิว่าหัวข้อและประเด็นนั้นเหมาะจะเขียนเป็นบทความประเภทใด บทความบางประเภทเหมาะสมกับหัวข้อบางหัวข้อ ฉะนั้นมาทำความรู้จักประเภทของบทความว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่า

  • บทความข่าว: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยปกติเนื้อหาจะครอบคลุมหกคำถามคือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
  • บทความสารคดี: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อมูลในแบบที่สร้างสรรค์และออกไปในทางพรรณนามากกว่าบทความข่าวซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เรื่องที่นำเสนออาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล ปรากฏการณ์ สถานที่ หรือเรื่องอื่นๆ
  • บทบรรณาธิการ : บทความประเภทนี้จะนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งหรือเรื่องซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีเจตนาโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหัวข้อนั้น
  • บทความสาธิตวิธีการ: บทความประเภทนี้จะให้คำแนะนำและข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ
  • บทความกึ่งชีวประวัติ: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลที่นักเขียนรวบรวมจากการสัมภาษณ์และค้นคว้าภูมิหลังมาเขียนบทความ

2 ระดมสมองคิดหัวข้อ. เขียนรายการหัวข้อที่น่าจะเขียนได้ เราอาจอยากเขียนเกี่ยวกับการอพยพหรืออาหารออร์แกนิก หรือศูนย์พักพิงสัตว์ใกล้บ้านเรา เราต้องทำให้หัวข้อแคบลงเพื่อจะได้เขียนออกมาเชื่อมโยงกันและสั้นกระชับ อีกทั้งเขียนได้เจาะลึกยิ่งขึ้น ผลที่ได้คือทำให้บทความของเรามีความหนักแน่นมากขึ้น ถามตนเองด้วยคำถามดังต่อไปนี้

  • เราสนใจอะไรในหัวข้อนี้
  • ประเด็นอะไรที่ผู้คนมักจะมองข้ามไป
  • เราอยากให้ผู้คนรู้อะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้
  • ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเขียนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เราอาจคิดว่า “ในฐานะผู้บริโภคเราต้องรู้ว่าการติดฉลากออร์แกนิกมีความสำคัญต่อบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างไร แต่เรายังไม่รู้ความสำคัญของการติดฉลากออร์แกนิกเลย”

3 เลือกหัวข้อที่สนใจ. ต้องเป็นหัวข้อที่เราสามารถเขียนออกมาได้มาก เราควรมีความสนใจในหัวข้อที่เลือกเขียน ความชอบจะแสดงออกมาให้เห็นในงานเขียนและจะทำให้ผู้อ่านอยากอ่านด้วย

  • เป้าหมายในการเขียนคือถ่ายทอดเนื้อหาออกมาให้ผู้อ่านเห็นว่าประเด็นในบทความของเรานั้นน่าสนใจ

4 ค้นคว้าก่อนเขียน. ถ้าไม่คุ้นเคยกับหัวข้อของตนเองเลย (ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องเขียนหัวข้อเฉพาะทางส่งอาจารย์) เราก็ต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนั้นก่อนลงมือเขียน

  • พิมพ์คำสำคัญพิมพ์ลงในเสิร์ชเอนจิน วิธีนี้จะช่วยนำเราไปสู่แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับหัวข้อของเรา อีกทั้งแหล่งข้อมูลเหล่านี้ยังให้แนวทางในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของหัวข้อที่จะเขียนด้วย
  • อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข้าห้องสมุด ค้นหนังสือ นิตยสาร บทความ บทสัมภาษณ์ และบทความสารคดีทางอินเตอร์เน็ตรวมทั้งข่าว บล็อก และฐานข้อมูล กล่าวคือค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทุกอย่างทั้งในรูปแบบหนังสือ (ตามห้องสมุดต่างๆ) และแบบออนไลน์

5 เพิ่มเอกลักษณ์เฉพาะตัว. เมื่อตัดสินใจเรื่องหัวข้อและทำให้หัวข้อนั้นแคบลงจนได้อะไรที่เฉพาะเจาะจงแล้ว ลองคิดสิว่าจะทำอย่างไรให้บทความนี้โดดเด่น ถ้าหากเราเขียนเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างที่คนอื่นก็เขียนด้วยเช่นกัน พยายามทำให้บทความของเรามีความพิเศษ อาจเพิ่มบทสนทนาเข้าไปในบทความด้วยก็ได้

  • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนเรื่องอาหารออร์แกนิก เราอาจเน้นประเด็นที่ว่าผู้ซื้อไม่มีความรู้ความเข้าใจในฉลากออร์แกนิกซึ่งติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์ ใช้เรื่องนี้เปิดไปสู่ประเด็นหลักของเรา หรือ “ย่อหน้าสำคัญ” ซึ่งสรุปแนวคิดสำคัญหรือมุมมองของเรา

6 แสดงความคิดเห็นพร้อมหลักฐานสนับสนุน. ในบทความส่วนใหญ่นักเขียนจะมีประเด็นซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขียนบทความขึ้นมา จากนั้นนักเขียนจะหาหลักฐานมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง เราจะต้องมีเหตุผลหนักแน่นและน่าเชื่อถือ ถึงจะทำให้บทความของเรามีคุณภาพ หลังจากกำหนดเอกลักษณ์ของบทความตนเองแล้ว เราก็จะสามารถมุ่งเข้าสู่ประเด็นที่เราหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในบทความ

  • ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังเขียนเกี่ยวกับวิธีอ่านฉลากออร์แกนิก ประเด็นโดยรวมของเราคือประชาชนจะต้องรู้ว่ามีหลายบริษัทใช้ฉลากออร์แกนิกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงนำไปสู่การโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามความจริง ตัวอย่างอีกหัวข้ออาจเป็นการรู้ว่าใครเป็นเจ้าของช่องทางสื่อประจำท้องถิ่นนั้นสำคัญ ถ้าองค์กรสื่อธุรกิจเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เราก็อาจได้ข่าวท้องถิ่นของเราน้อยมากและไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองมากนัก
  • เขียนประเด็นให้เป็นประโยคหนึ่งประโยค ติดไว้ที่คอมพิวเตอร์หรือพื้นที่ซึ่งใช้เขียน จะช่วยให้เรายังคงจดจ่ออยู่กับประเด็นสำคัญเมื่อเริ่มลงมือเขียนบทความ