ประเภทและความหมายของบทความ

ความหมายและลักษณะของบทความ
บทความ หมายถึง เรื่องที่ให้สาระ ข้อเท็จจริง ความรู้ เสนอความคิดเห็น แตกต่างจากบันเทิงคดี บทความในหนังสือพิมพ์จะมีลักษณะที่น่าสังเกตคือ จะมีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก ใช้ย่อหน้าสั้นๆ นำเรื่องพื้นๆ ที่รู้ๆ กันอยู่แล้วมาตีพิมพ์ หรือนำเรื่องเล็กๆ ที่คนมองข้ามมาเติมสีสันให้น่าอ่าน บทความอาจมีการเน้นเนื้อหาที่ตัวเหตุการณ์และแนวโน้มในอนาคต

ฉะนั้น บทความจึงเป็นความเรียงประเภทหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์หลายลักษณะ เช่น เพื่อแสดงความรู้ เสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์วิจารณ์ ฯลฯ โดยต้องเขียนอย่างมีหลักฐาน มีเหตุผล น่าเชื่อถือ หากมีข้อเสนอแนะใดๆ ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์

ประเภทของบทความ
เมื่อแบ่งตามเนื้อหา บทความจะแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ได้แก่

1. บทบรรณาธิการ เป็นบทความแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อเสนอแนวคิดหลักของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

2. บทความสัมภาษณ์ เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง หรือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลนั้น หรือจากการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนในหัวข้อเดียวกัน

3. บทความแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป มีเนื้อหาหลายลักษณะ เช่น หยิบยกปัญหา เหตุการณ์ หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจมาแสดงความคิดเห็น หรือผู้เขียนเสนอความคิดเห็นสนับสนุน หรือคัดค้าน หรือทั้งสนับสนุนและคัดค้านความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันของคนอื่นๆ เป็นต้น

4. บทความวิเคราะห์ เป็นบทความแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เผยมาแล้วอย่างละเอียด โดยแยกแยะให้เห็นส่วนต่างๆ ของเรื่องนั้น ผู้เขียนเสนอความคิดและวิเคราะห์เหตุการณ์เรื่องราวนั้นอย่างละเอียด แสดงข้อเท็จจริง เหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ ความคิดเห็นเพิ่มเติม เกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็น บทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ปัญหา

5. บทความวิจารณ์ เขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์เรื่องราวที่ต้องการวิจารณ์ด้วยเหตุผลและหลักวิชาเป็นสำคัญ เช่น “บทบรรณนิทัศน์” ซึ่งแสดงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ เพื่อแนะนำหนังสือ “บทวิจารณ์วรรณกรรม” แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์และประเมินค่าโดยใช้หลักวิชาและเหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง และ “บทวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ” ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับบทวิจารณ์วรรณกรรมแต่นำผลงานที่เป็นศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพเขียน ดนตรี มาวิจารณ์

6. บทความสารคดีท่องเที่ยว มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีทัศนียภาพสวยงามหรือมีความสำคัญในด้านต่างๆ เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ชักชวนให้สนใจไปพบเห็นสถานที่นั้นๆ

7. บทความกึ่งชีวประวัติ เป็นการเขียนบางส่วนของชีวิตบุคคลเพื่อให้ผู้อ่านทราบ โดยเฉพาะคุณสมบัติ หรือผลงานเด่นที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อชื่นชม ยกย่อง เจ้าของประวัติ และชี้ให้ผู้อ่านได้แง่คิดเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ

8. บทความครบรอบปี มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องราว เหตุการณ์ พิธีการในเทศกาลหรือวันสำคัญ เช่น วันสำคัญทางศาสนา ทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ เป็นต้น ที่ประชาชนสนใจเมื่อโอกาสนั้นมาถึง เช่น วันวิสาขบูชา วันคริสต์มาส เป็นต้น

9. บทความให้ความรู้ทั่วไป ผู้เขียนจะอธิบายให้ความรู้คำแนะนำในเรื่องทั่วๆ ไปที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มารยาทการเข้าสังคม การแต่งกายให้เหมาะแก่กาลเทศะและบุคลิกภาพ เคล็ดลับการครองชีวิตคู่ เป็นต้น

10. บทความเชิงธรรมะ จะอธิบายข้อธรรมะให้ผู้อ่านทั่วๆ ไปเข้าใจได้ง่าย หรือให้คติ ให้แนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เสนอหนทางแก้ปัญหาตามแนวพุทธปรัชญา ปัจจุบันบทความลักษณะนี้มีมากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านมีแนวทางการดำเนินชีวิตในสังคมที่วิกฤตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น

11. บทความวิชาการ มีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ก็ได้ หรืออาจเสนอผลการวิจัย